รถไฟไทย-จีน กทม.-โคราชลุ้นเหนื่อยเคลียร์สารพัดปัญหาไม่จบ “บิ๊กตู่” รุดดูสถานีกลางบางซื่อ แกะปม EIA เวนคืน รับเหมาขอยืดอีก 270 วัน ก่อสร้างสีคิ้ว-กุดจิก ดีเดย์ 26 พ.ย. “ศักดิ์สยาม” เซ็นรวด 5 สัญญา 4 หมื่นล้าน แต่เปิดไซต์งานไม่ได้ ฉุดโครงการอืด เลื่อนเปิดหวูดปี’69 ราคาประเมินใหม่ 3 จังหวัดพุ่งวาละ 1.3 แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเดือน ธ.ค. 2564 รถไฟจีน-ลาวจะเปิดบริการ เป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ความเร็ว 160 กม/ชม. จากคุนหมิง-เวียงจันทน์ อนาคตจะเชื่อมรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่รัฐบาลไทยลงทุน 431,759 ล้านบาท แบ่ง 2 ระยะ ระยะแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. วงเงิน 179,413 ล้านบาท รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลจีน แบบรัฐต่อรัฐ ฝ่ายไทยลงทุนทั้งโครงการและก่อสร้าง ฝ่ายจีนออกแบบ คุมงานก่อสร้าง วางระบบราง ระบบไฟฟ้า จัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง ฝึกอบรมบุคลากรเดินรถและซ่อมบำรุง ส่วนระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. วงเงิน 252,347 ล้านบาท แบบรายละเอียดจะเสร็จเดือน มี.ค. 2564 และในปี 2565 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ มีแผนเปิดในปี 2570

คืบหน้า 14 สัญญา

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รถไฟไทย-จีนช่วงกรุงเทพฯ-โคราช แบ่งสร้าง 14 สัญญา ได้ผู้รับเหมาแล้ว 13 สัญญา เหลือช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง รอปรับแบบร่วมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินของกลุ่ม ซี.พี. ปัจจุบันสร้างช่วงกลางดง-ปางอโศกเสร็จแล้ว เป็นงานถมคันดิน ระยะทาง 3.5 กม. มีกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการ โดยใช้เวลา 2 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างก่อสร้างช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง เป็นผู้ก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 44% ล่าช้า 56% ติดส่งมอบพื้นที่ ล่าสุดผู้รับเหมาขอขยายสัญญา 270 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 21 ต.ค. 2563

ในวันที่ 26 พ.ย. 2563 จะเซ็นสัญญาอีก 5 สัญญา วงเงิน 40,275.33 ล้านบาท ได้แก่ 1.สัญญา 3-2 อุโมงค์ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง 12.23 กม. มี บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง 4,279 ล้านบาท 2.สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง 21.6 กม. มี บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ เป็นผู้ก่อสร้าง 9,838 ล้านบาท 3.สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด 37.45 กม. มี บจ.บีพีเอ็นพีเป็นผู้ก่อสร้าง 9,848 ล้านบาท 4.สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK เป็นผู้ก่อสร้าง 7,750 ล้านบาท และ 5.สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย 12.99 กม. มี บจ.ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง ก่อสร้าง 8,560 ล้านบาท

“5 สัญญาอยู่ช่วงสระบุรี-โคราช เป็นงานต่อจากช่วงสีคิ้ว-กุดจิก แต่ยังไม่ต่อเนื่องทั้งหมด ขาดช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ยังติดอุทธรณ์ผลประมูล”

ปี’64 เริ่มงานช่วงสระบุรี-โคราช

หลังเซ็นสัญญา คาดว่าจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ในช่วงต้นปี 2564 ต้องให้ผู้รับเหมาเตรียมเครื่องจักรก่อสร้าง และ ร.ฟ.ท.ยังเคลียร์พื้นที่ไม่เสร็จ รอกรมป่าไม้อนุมัติใช้พื้นที่ป่าช่วงลำตะคอง และพื้นที่สัมปทานบัตรโรงปูน เจาะอุโมงค์ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 8 กม. รวมถึงรอเวนคืนที่ดินที่ พ.ร.ฎ.ยังไม่ประกาศ ทั้งโครงการมีเวนคืน 2,815 ไร่ วงเงิน 5,637.85 ล้านบาท ซึ่งรอคมนาคมพิจารณาเสนอ ครม.อนุมัติ ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้ ร.ฟ.ท.เคลียร์รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เรียบร้อยทั้งโครงการก่อน

“ช่วงภาชี-โคราช บอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติ EIA แล้ว เหลือบางซื่อ-ภาชี มีปรับ EIA รอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อนุมติ และขอความเห็นชอบจากกรมศิลปากร เพราะปรับ EIA เกิดจากเปลี่ยนแบบสถานีอยุธยา ให้มาใช้แบบก่อสร้างเดิมที่ไม่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมสถานี ซึ่งบริเวณนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก ต้องขอความเห็นกรมศิลปากร จะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ทำให้การเซ็น 6 สัญญา วงเงิน 56,488.16 ล้านบาทล่าช้า”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนงานระบบวงเงิน 50,633 ล้านบาท เซ็นสัญญากับ บจ.ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันเนล และ บจ.ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น รัฐวิสาหกิจจากจีน เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 รอส่งมอบหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน 3 ฉบับ คาดว่าจะส่งมอบฉบับที่ 1 ในวันที่ 22 ธ.ค. 2563 จะเริ่มงานได้ทันที มีระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน จะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564

เลื่อนเปิดเป็นปี’69

“ยังเคลียร์ปัญหาไม่จบทั้งหมด ไม่ง่ายอย่างที่คิด ทั้ง EIA เวนคืน ย้ายท่อก๊าซ ปตท.ช่วงดอนเมือง-รังสิต รวมถึงขอใช้พื้นที่จากส่วนราชการอื่น ทำให้การสร้างอาจจะไม่ได้เริ่มต้นพร้อมกันตลอดสาย คงพิจารณาให้ผู้รับเหมาเข้าเป็นเฉพาะรายสัญญา กระทบต่อแผนเปิดบริการ จากเดิมปลายปี 2568 อาจจะขยับเป็นปี 2569” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

สำหรับรถไฟไทย-จีนมี 6 สถานี ได้แก่ 1.สถานีบางซื่อ อยู่ชั้น 3 สถานีกลางบางซื่อ 2.สถานีดอนเมือง อยู่ในสถานีเดิม 3.สถานีอยุธยา เยื้องสถานีเดิม 200-300 เมตร 4.สถานีสระบุรี สร้างบนพื้นที่ใหม่ 97 ไร่ 5.สถานีปากช่อง ต.หนองสาหร่าย กว่า 500 ไร่ ห่างจากสถานีเดิม 5 กม. 6.สถานีนครราชสีมา พื้นที่กว่า 200 ไร่ เก็บค่าโดยสาร 535 บาท/เที่ยว ใช้เวลาเดินทาง 1.30 ชั่วโมง

บิ๊กตู่ยก ครม.ดูสถานีกลางบางซื่อ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า วันที่ 14 ธ.ค. 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี จะเยี่ยมชมความคืบหน้าสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบรางทั้งรถไฟฟ้า รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง ขณะนี้ ร.ฟ.ท.สร้างงานโครงสร้างเสร็จแล้ว เหลือตกแต่งภายในสถานี คาดว่าจะเปิดบริการพร้อมรถไฟสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะทดลองใช้เดือน ก.ค. และเปิดเชิงพาณิชย์เดือน พ.ย. 2564 เป็นสถานีใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้มาใช้บริการ 208,000 เที่ยวคน/วัน และเพิ่มเป็น 396,000 เที่ยวคน/วัน ในปี 2575

“ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรียกคณะรัฐมนตรีมาดูสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เกิดความมั่นใจถึงความคืบหน้าของโครงการ หลังคมนาคมจะเสนอขออนุมัติขยายกรอบวงเงินของรถไฟสายสีแดง ที่ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 10,345 ล้านบาทหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว

ราคาประเมินใหม่ขยับ 22.34%

นายฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการกองประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ราคาประเมินใหม่จะประกาศใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565 ในพื้นที่ 3 จังหวัด มีรถไฟไทย-จีนพาดผ่าน ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปรับขึ้น 2.86% สูงสุด อ.พระนครศรีอยุธยา ติด ถ.โรจนะ 60,000 บาท/ตร.ว. ต่ำสุด อ.ท่าเรือ อ.บางซ้าย อ.ภาชี และ อ.ผักไห่ 250 บาท/ตร.ว. ส่วนถนนสายสำคัญ อาทิ ถ.309 ราคาอยู่ที่ 4,000-60,000 บาท/ตร.ว. ถ.พหลโยธิน 15,000-45,000 บาท/ตร.ว. ถ.สายเอเชีย 7,500-40,000 บาท/ตร.ว.

จ.สระบุรี เพิ่มขึ้น 22.34% สูงสุด อ.เมืองสระบุรี ถ.พหลโยธิน-ถ.สุดบรรทัดซอย 13 ราคา 75,000 บาท/ตร.ว. ต่ำสุด อ.หนองโดน และ อ.ดอนพุด 130 บาท/ตร.ว. ส่วนถนนสายสำคัญ อาทิ ถ.สุดบรรทัด 3,000-75,000 บาท/ตร.ว. ถ.พหลโยธิน 8,000-72,000 บาท/ตร.ว. ถ.มิตรภาพ 10,000-50,000 บาท/ตร.ว. ถ.เลี่ยงเมืองสระบุรี 6,500 บาท/ตร.ว. เป็นต้น

จ.นครราชสีมาเพิ่มขึ้น 1.27% สูงสุดอยู่ ถ.ราชดำเนิน อ.เมืองนครราชสีมา 130,000 บาท/ตร.ว. ต่ำสุดอยู่ อ.เทพารักษ์ 50 บาท/ตร.ว. ส่วนถนนสายสำคัญ อาทิ ถ.มิตรภาพ 500-110,000 บาท/ตร.ว. ถ.ราชสีมา-โชคชัย 600-100,000 บาท/ตร.ว. ถ.ธนะรัชต์ 27,500 บาท/ตร.ว. ถ.ราชสีมา-ปักธงชัย 1,300-20,000 บาท/ตร.ว. เป็นต้น

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …