ที่โรงแรมดิอิมพีเรียลโฮเทล โคราช อ.เมือง จ.นครราชสีมา วันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ทำพิธีเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทในการดำเนินการและการพัฒนาสถานีขนส่งโดยสารนครราชสีมา โดยมีนายศิระ บุญธรรมกุล ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งโดยสารและผู้เกี่ยวข้องรับฟังการนำเสนอผลการศึกษาและแผนปฏิบัติการพัฒนารวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการสถานีขนส่งในอนาคต

นายศิระกล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญและมีความจำเป็นต้องพัฒนาสถานีขนส่งโดยสารนครราชสีมา ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการให้บริการพร้อมทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลและจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะเพื่อให้สอดรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมและการคมนาคมขนส่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ทำการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทและการพัฒนาในระยะเร่งด่วน 5 ปี โดยสถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ 2 ถูกจัดอันดับให้เป็นสถานีขนส่งโดยสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและอันดับ 2 ของประเทศไทย แต่ละวันต้องรองรับการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้ง 4 หมวด รวม 90 เส้นทาง จำนวน 2,168 เที่ยวรถและมีผู้โดยสารมาใช้บริการเฉลี่ย 3 หมื่นคน หากเป็นช่วงเทศกาลสำคัญจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 50 % ที่สำคัญยังเป็นประตูสู่ภาคอีสานและอินโดจีน จึงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและธุรกิจการท่องเที่ยวสูงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้พร้อมรับการเดินทางที่ต้องการบริการสะดวกปลอดภัยและมีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีและคุณภาพสูงขึ้น

นายจารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ได้นำเสนอการนำเทคโนโลยีเข้ามาควบคุมและพัฒนาระบบบริการให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จากการประเมินศักยภาพสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 1 ควรพัฒนาด้านกายภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน สอดคล้องกับการวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่และปรับปรุงระบบให้มีความทันสมัย ส่วนสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 เป็นจุดเชื่อมโยงเส้นทางข้ามจังหวัด ครอบคลุมทั้งภาคอีสาน มีจำนวนเดินทางระหว่างเมืองค่อนข้างมาก รวมทั้งมีประชาชนทั้งในและต่างพื้นที่หมุนเวียนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ควรปรับปรุงพัฒนา ยกระดับเทคโนโลยีการจัดการโดยสารครอบคลุมทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดช่องจอดรถ การจำหน่ายตั๋วออนไลน์ การเชื่อมโยงระบบขนส่งต่างๆ ให้สะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในทิศทางใดต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในอนาคตสถานีขนส่งผู้โดยสาร จะต้องพัฒนาไปสู่รูปแบบการบริการคล้ายคลึงระบบเดียวกันกับสนามบิน

แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
ภาพประกอบ : Postjung


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …