ชาวโคราช จัดหนัก ประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้าย เสียงส่วนใหญ่ไม่รับโครงการรถไฟฟ้ามวลเบาผ่าเมือง สนข.หน้าแตก ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่ ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช จังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 31 กรกฎาคม ว่าที่ร้อยตรีนิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชนและประชาชน จำนวน 400 คน ร่วมรับฟังการนำเสนอภาพรวมผลการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อนจัดทำร่างแผนแม่บท ฯ บรรยากาศค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีการแจกใบปลิวระบุข้อความห้ามจอดรถตลอดแนว ถนนมุขมนตรี ถนนโพธิ์กลาง ถนนสุรนารี ทำให้ผู้ประกอบการค้า ประชาชนเกรงจะได้รับผลกระทบจากรูปแบบโครงการ ฯ ได้ทยอยเดินทางมาร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ผู้จัดการสัมมนา ฯ ต้องสำรองเก้าอี้นั่งเพิ่มจำนวนกว่า 100 ตัว จนร้อยโทสำรวย เกียนประโคน หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กองร้อยรักษาความสงบ อ.เมือง นครราชสีมา สังกัดมณฑลทหารบกที่ 21 ค่ายสุรนารี (ร้อย รส.อ.เมือง มทบ.21 ) นำกำลังมาดูรักษาความสงบเรียบร้อย ป้องปรามการเคลื่อนไหวที่หมิ่นเหม่ข้อกฎหมายและสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ช่วงเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการโครงการ ฯ ดังกล่าว เนื่องจากแนวเส้นทางผ่าใจกลางเมือง ไม่สามารถตอบโจทย์การขนส่งสาธารณะได้ถูกต้อง การห้ามจอดรถยนต์ในเขตเมือง ซึ่งถนนค่อนข้างคับแคบ จุดจอดรถอยู่หน้าร้านค้า จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นายสุรวุฒิ ฯ นายก ทน.นครราชสีมา กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ได้รับทราบข้อมูลเบื้องต้นช่วงเส้นทางผ่านย่านกลางเมือง ไม่ให้จอดรถยนต์ริมสองฝั่งถนน จึงขอให้ สนข.ทดลองนำรถบัสพลังงานไฟฟ้ามาวิ่งก่อน จะได้ทราบปัญหาที่แท้จริง ตนในฐานะตัวแทนชาวโคราช อยากให้ทุกคนมีความคิดเห็นตรงกัน จะได้ไม่เกิดความขัดแย้งภายหลัง ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธ์ ที่ปรึกษาโครงการ ฯ ฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร เปิดเผยว่า ผลการศึกษาพบระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา คือ ระบบรถแบบ LRT หรือ Light Rail Transit System ซึ่งเป็นระบบหลักและมีระบบรถโดยสาร (Bus Technology) เป็นระบบรอง มี 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ซึ่งจุดจอด/สถานีในระยะห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร โดยก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 สายสีส้มเข้ม จำนวน 2 เส้นทาง เริ่มจากทางแยกประโดก-คูเมืองเก่า ระยะทาง 9.81 กิโลเมตร และสายสีเขียวเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร ระยะที่ 2 สายสีม่วงเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถนนมิตรภาพ-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร ระยะที่ 3 สายสีส้มอ่อน โรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร)-หัวทะเล-ดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร สายสีเขียวอ่อน ห้วยบ้านยาง-สำนักงานขนส่งนครราชสีมา สาขา 2 (จอหอ) ระยะทาง 12.12 กิโลเมตร และสายสีม่วงอ่อน มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล-ค่ายสุรนารายณ์ ระยะทาง 4.48 กิโลเมตร รวมมูลค่าทั้งสิ้น 32,000 ล้านบาท นางวิไลรัตน์ ฯ รอง ผอ.สนข. เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นประตูสู่อีสาน ซึ่งมีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดและมีจำนวนประชากรมากที่สุดในภูมิภาค มีศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค จึงมีความสำคัญในกรอบยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพรวมในระยะยาว สนข.จึงดำเนินการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นแผนที่นำทาง ( Road Map ) ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เพื่อให้การเดินทางสัญจรมีความคล่องตัวสามารถเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถบรรเทาปัญหาจราจรในอนาคต ที่ผ่านมา สนข. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อหารือหรือพบปะกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 ครั้ง และจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นจำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรู้และมีส่วนร่วมการดำเนินโครงการตั้งแต่ขั้นตอนศึกษา การวางแผนและการตัดสินใจการดำเนินโครงการ ฯ เป็นไปด้วยความโปร่งใสชอบธรรมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม หลังการสัมมนาครั้งนี้ สนข.จะนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการสรุปผลการศึกษาโครงการ ฯ ระยะเวลาประมาณ 5 ปี จะสามารถพัฒนารูปแบบการให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจราจรและขนส่ง รวมทั้งส่งเสริมการเดินทางให้มีความสะดวกสบาย มีความปลอดภัย ช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้น หากเสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการ ขั้นตอนขณะนี้ยังไม่ได้ออกแบบโครงการ ฯ เป็นเพียงผลการศึกษาแผนแม่บท ฯ กระบวนการต่อไปต้องนำผลการศึกษาทั้งหมดกลับมาทบทวนอีกครั้ง เพื่อพิจารณาปรับรูปแบบโครงการให้เหมาะสมตรงความต้องการของชาวโคราชมากที่สุด แหล่งข้อมูล : กรุงเทพธุรกิจ
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market