ความเคลื่อนไหวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และประชาชนในเขตเมืองนครราชสีมา หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เร่งรัดดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ได้สร้างความดีใจให้กับทุกภาคส่วนของโคราช ที่เฝ้ารอความจริงมาหลายรัฐบาล แต่บทสรุปการประชาพิจารณ์ ซึ่งดำเนินการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กำหนดรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ขอนแก่น-ชุมทางถนนจิระ-มาบกะเบา ช่วงเส้นทางจากสถานีภูเขาลาด อ.เมือง ถึงสถานีบ้านเกาะ อ.เมือง เป็นทางรถไฟบนดินสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการเดินทางระบบราง ต้องปิดจุดตัดถนนข้ามทางรถไฟ ซึ่งมีเครื่องกั้นควบคุมการเปิดปิดด้วยมนุษย์และอัตโนมัติ รวม 10 จุด ก่อสร้างทางต่างระดับเป็นสะพานข้ามทางรถไฟจำนวน 6 จุด ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะทางข้ามถนนพิบูลละเอียด บริเวณห้าแยกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา ถนนราชดำเนิน ข้างจวน ผวจ.นครราชสีมา ถนนไชยณรงค์ หลังโรงแรมปัญจดารา ถนนเบญจรงค์ และถนนเลียบนคร ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อ อปท.ขนาดใหญ่ และถนนยุทธศาสตร์ ที่ตั้งของกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี และกองบิน 1 สร้างความหวั่นวิตกพร้อมกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ฐานะเจ้าของโครงการ ฯ ทบทวนพิจารณารูปแบบทางรถไฟช่วงผ่านเมืองโคราช เป็นทางยกระดับ ล่าสุดกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ติดตั้งป้ายไวนิลและโลกโซเชียลกลุ่มเวปเพจ เปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นกับกรณีดังกล่าว นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา เปิดเผยว่า ชาวเมืองโคราช มีความยินดีที่รัฐบาล และ รฟท. นำความเจริญมาสู่จังหวัดนครราชสีมา ใช้งบหลายหมื่นล้านบาท เนรมิตโครงการรถไฟทางคู่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นรูปแบบโครงการชัดเจน หากทางรถไฟไม่ยกระดับช่วงผ่านตัวเมือง อนาคตจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆนานา โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างเมือง ต้องลำบากมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากกายภาพพื้นที่ต้องระบายน้ำเลียบทางรถไฟลงลำตะคอง จะส่งผลให้การวางแนวท่อมีปัญหาภายหลัง ขอให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับทางรถไฟทางคู่ผ่านเมืองโคราช ไม่ให้เป็นเมืองอกแตกถูกทางรถไฟแบ่งแยกออกเป็น 2 ฝั่ง ขณะนี้ ทน. ฯ ร่วมกับ อปท. 5 แห่ง ที่ได้รับผลกระทบ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา สมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา กำลังรวบรวมข้อมูล สำรวจ รายละเอียดผลกระทบทางคุณภาพชีวิตและตัวเลขทางเศรษฐกิจ ต้นทุนการดำรงชีวิต รวมทั้งความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ชี้แจงต่อ สนข. และรัฐบาล ขอให้ผู้มีอำนาจรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้านนายอำพร มณีกรรณ์ นายกเทศมนตรีตำบล (ทต.)โพธิ์กลาง อ.เมือง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ ฯ สามารถตอบโจทย์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งมวลชน ลดระยะเวลาการเดินทาง ประหยัดพลังงานและเพิ่มทางเลือกในสัญจรจากเมืองโคราชสู่ภูมิภาคต่างๆ ส่งผลให้โคราช มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอีสาน แต่รูปแบบทางรถไฟบนดิน ส่งผลให้การสัญจรเต้องใช้ถนนเลียบทางรถไฟที่ไกลกว่าเดิม ทต.โพธิ์กลาง เป็น อปท.ที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดใน อ.เมือง มีประชากรกว่า 4 หมื่นคน หากทางรถไฟไม่ยกระดับผ่าน ทต.โพธิ์กลาง ฯ และ อปท.ด้านทิศเหนือ จะต้องถูกแบ่งออกโดยมีทางรถไฟกั้นกลาง รวมทั้งการขนส่งขยะมูลฝอยจาก อปท. 34 แห่ง นำเข้ามาทิ้งในบ่อขยะ ทน. ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลโพธิ์กลาง ต้องสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้นรูปแบบการก่อสร้างผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์แล้ว ซึ่ง สนข. ไม่ให้ความสำคัญ ทั้งๆที่มีการแสดงความคิดเห็นทักท้วง ตนในฐานะเป็นผู้บริหาร อปท.ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขอให้หัวหน้า คสช. ได้ประกาศใช้ ม.44 รถไฟความเร็วสูงแล้ว พิจารณาออกคำสั่งปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการรถไฟทางคู่ ให้เป็นทางยกระดับ จะสร้างคุณูปการให้กับชาวโคราช พวกเราจะรำลึกความดีของท่านจนชั่วลูกชั่วหลาน แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market