2 ก๊กทุนยักษ์ไทย-ต่างชาติชิงเดือดไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ซี.พี.-บีทีเอสส่อแยกวง ไม่มีใครยอมถอย แย่งถือหุ้นใหญ่กำหนดเกมอีอีซี โชว์ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ซี.พี.ปักหลักจับจีน-ญี่ปุ่น บีทีเอสควงราชบุรีโฮลดิ้ง ซิโน-ไทยฯ ลุ้น ปตท.ร่วมวง ชี้แจงทูต-นักลงทุนทั่วโลก ต่างชาติถือหุ้นได้เกิน 51% ชง “บิ๊กตู่” ขยายอู่ตะเภา มาบตาพุด 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า จากนี้ไปจะเดินหน้าทุกโครงการ โดยเฉพาะแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญที่สุด เป็นปัจจัยความสำเร็จของเขต EEC คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งจะมีการออกประกาศเงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ ในเร็ว ๆ นี้

2 ยักษ์เจรจาฝุ่นตลบชิงเบอร์หนึ่ง

สำหรับความเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในและต่างประเทศที่สนใจจะร่วมประมูลในครั้งนี้ แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้มีการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันไว้อย่างไม่เป็นทางการ 2 กลุ่ม โดยแต่ละรายแสดงความจำนงที่จะเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ในการบริหารกิจการรถไฟความเร็วสูงและพื้นที่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ กลุ่มแรก คือ 3 รายเดิม ที่เคยแสดงความจำนงจะร่วมเป็นกิจการร่วมค้า คือ กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.)

ซี.พี.ควงจีน-ญี่ปุ่นปาดเค้ก

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการเจรจากันอย่างเข้มข้น ระหว่างกลุ่ม ซี.พี.กลับกลุ่มบีทีเอส ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญคือ ประสบการณ์ในการเดินรถ และการบริหารกิจการระบบรางในเมืองไทย ซึ่งกลุ่มบีทีเอสมีประสบการณ์และผลงานมากกว่า แต่ฝ่ายกลุ่ม ซี.พี.ก็มีเหตุผลในการสนับสนุนที่จะถือหุ้นใหญ่ว่า เป็นกลุ่มทุนไทยที่แข็งแกร่งและมีพันธมิตรที่เป็นต่างชาติสนับสนุนคือจีน และมีการร่วมทุนกับกลุ่มอิโตชูจากญี่ปุ่นไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรที่เป็นบริษัทก่อสร้างด้วย

“ขณะนี้การเจรจายังไม่ลงตัวว่า กลุ่มแรกนี้ใครจะเป็นฝ่ายถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นกลุ่ม ซี.พี.จึงถอยออกมา เพื่อหาพันธมิตรใหม่เพิ่มจากเดิม โดยกลุ่ม ซี.พี.ยังคงต้องการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และจะเป็นกลุ่มที่ 2 ที่จะร่วมเข้าประมูลในครั้งนี้”

แหล่งข่าวกล่าวและว่า โครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี ดังนั้น ทั้งกลุ่มบีทีเอส และกลุ่ม ซี.พี.คงไม่ยอมถอย รายงานข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้การเจรจาหาพันธมิตรระหว่างกลุ่มบีทีเอส ปตท. และ ซี.พี. ยังไม่เป็นที่ยุติเรื่องโมเดลการร่วมลงทุน เนื่องจากทั้งบีทีเอส มีนายคีรี กาญจนพาสน์ เป็นเจ้าของ และ ซี.พี. มีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ต้องการจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเพื่อเข้าร่วมประมูล หากใครเป็นผู้ถือหุ้นจะทำให้มีอำนาจในการบริหารและกำหนดทิศทางของบริษัทได้

“ทางบีทีเอส ตอนนี้มีซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งเป็นพันธมิตรอยู่แล้ว กำลังเจรจากับ ปตท. รวมถึง ซี.พี.ด้วย แต่หาก ซี.พี.ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็มีความเป็นไปได้ที่ ซี.พี.จะผนึกกับผู้ประกอบการไทยที่เป็นรับเหมาแทนก็ได้ เช่น อิตาเลียนไทย ช.การช่าง เพราะ ซี.พี.ด้วยศักยภาพมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีบริษัทที่พัฒนาธุรกิจอสังหาฯในเครืออยู่แล้ว ส่วนงานระบบรถไฟความเร็วสูงก็มีพันธมิตรจากจีนและญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้มีกระแสข่าวว่าบริษัทรถไฟของจีนกำลังรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อจับมือกับ ซี.พี.แล้ว แต่ที่ ซี.พี.มาเจรจาบีทีเอสเพราะมีประสบการณ์เดินรถไฟฟ้ามานาน”

สำหรับบีทีเอส หากไม่ร่วมกับ ซี.พี. อาจจะตัดสินใจร่วมกับ ปตท. โดยถือหุ้นสัดส่วนเท่ากัน อาจจะเป็นคนละ 30% เนื่องจาก ปตท.ไม่มีประสบการณ์ด้านระบบราง แต่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง ส่วนซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งอาจจะถือหุ้นคนละ 15% ที่เหลือ 10% อาจจะเป็นบริษัทต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานระบบอาณัติสัญญาณ

คีรีประกาศตีตั๋วประมูล 

ก่อนหน้านี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอสกรุ๊ปโฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บีทีเอสและ ปตท.กำลังเจรจาเพื่อร่วมกันเป็นพันธมิตรเข้าประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่เข้าร่วมประมูลแน่นอน เพราะเป็นธุรกิจหลักของบริษัท นอกจากนี้ยังเจรจากับรายอื่น ๆ ด้วย ทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บีทีเอสซี กล่าวว่า การเจรจากับ ปตท.ยังไม่เป็นที่ยุติ ขณะเดียวกันได้เจรจากับรายอื่น ๆ ด้วย ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจจะร่วมกับใครบ้าง รอดูทีโออาร์ประมูลที่รัฐจะประกาศออกมา รวมถึงผลศึกษาความคุ้มค่าของโครงการที่บริษัทกำลังศึกษาอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม บีทีเอสจะร่วมกับซิโน-ไทยฯและราชบุรีโฮลดิ้งอย่างแน่นอน

พ.ค.นี้ตีฆ้องเชิญทั่วโลก 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน พ.ค.นี้จะออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนทั่วโลกเข้าร่วมประมูล PPP net cost 50 ปี รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. วงเงินกว่า 2.2 แสนล้านบาท จากนั้นภายในเดือน มิ.ย.จะขายเอกสารประกวดราคาและเปิดยื่นซองประมูลภายในเดือน พ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะอย่างเร็วปลายปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปี 2562 เพราะการเจรจาอาจจะใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง

“รถไฟอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ซึ่งมีพื้นที่เวนคืนไม่มาก เพราะงานก่อสร้างใช้แนวเขตทางรถไฟประมาณ 95% ยกเว้นศูนย์ซ่อมบำรุง หรือเดโป้ 100 ไร่ ที่ฉะเชิงเทรา”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวย้ำว่า จะประกาศเชิญชวนนักลงทุนร่วมประมูลให้ได้ภายในเดือน พ.ค.นี้อย่างแน่นอน และบอร์ดได้เตรียมการชี้แจงรายละเอียด พ.ร.บ.อีอีซี ให้กับทูตทั่วโลกได้รับทราบ

เปิดทางต่างชาติถือหุ้นเกิน 51% 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้ข้อมูลว่า โครงการนี้จะมีเงื่อนไขพิเศษ คือ เปิดประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนล (นานาชาติ) และเป็นโครงการที่อยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดโอกาสให้ต่างชาติมีสัดส่วนในการถือหุ้นเข้ามาบริหารจัดการได้เกินกว่า 51% จึงเป็นที่สนใจของทุนยักษ์ต่างชาติมาก แต่ทุนต่างชาติก็ต้องเข้ามาจับมือกับพันธมิตรธุรกิจไทย จึงจะมีโอกาสสูงกว่า

“จากการฟังผลการเจรจาของทุนใหญ่ ๆ ในเมืองไทย ทุกบริษัทแสดงตัวและฐานะทางการเงินว่า ทุนไทยมีสภาพคล่องแข็งแกร่งมากพอที่จะร่วมลงทุนโครงการนี้ โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งพาทุนจากต่างชาติด้วยซ้ำ แม้จะมีการเปิดประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนลก็ตาม” แหล่งข่าวกล่าวย้ำ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า หลัง พ.ร.บ.อีอีซีมีผลบังคับใช้แล้ว รอดูว่าทางคณะกรรมการอีอีซีจะออกประกาศแนวทางการให้เอกชนร่วมทุน PPP มารองรับหรือไม่ เพราะมีแก้ไขบางประเด็นให้ทีโออาร์เปิดกว้างให้ต่างชาติร่วมประมูลได้มากขึ้น เช่น ไม่ต้องกำหนดสัดส่วนถือหุ้นของต่างชาติเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น หรือกฎหมายที่ระบุไว้ 51 : 49 มีอะไรที่จะรองรับได้บ้าง หากให้เกินจากนี้จะผิดหรือไม่ ในเร็ว ๆ นี้จะสรุป เพราะทางอีอีซีต้องการใช้โครงการประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เป็นต้นแบบให้กับโครงการอื่น ๆ เช่น ท่าเรือ สนามบิน

อู่ตะเภา-มาบตาพุดคิวต่อไป 

แหล่งจากคณะกรรมการอีอีซีกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ จะมีวาระสำคัญ คือการขออนุมัติ กรอบระยะเวลาในการประกาศทีโออาร์ การประมูล และการเริ่มก่อสร้างโครงการสนามบินอู่ตะเภา ส่วนต่อขยาย และประเด็นขอความร่วมมือกับกองทัพเรือ ในการร่วมดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะเตรียมความพร้อมให้เกิดการประมูลทั้งโครงการรถไฟไฮสปีดเทรน สนามบินอู่ตะเภา และท่าเรือมาบตาพุด ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการในอีอีซี ที่จะเปิดประมูลภายในปี 2561 รูปแบบ PPP ระยะเวลา 30-50 ปี มีมูลค่าร่วม 5 แสนล้านบาท ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 และสนามบินอู่ตะเภา

พลเรือตรี ลือชัย ศรีเอี่ยมกูล ผู้อำนวยการท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอความชัดเจนจากอีอีซี เรื่องการประมูลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เนื้อที่ 6,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 1.5 กม. โดยจะใช้เงินลงทุนหลายแสนล้านบาท ตามแผนจะให้แล้วเสร็จใน 5 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ว่าจะเป็นสัมปทานเดียวหรือรายพื้นที่ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปีนี้

พ.ร.บ.อีอีซีพิเศษทุกขั้นตอน 

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 (EEC) ที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา อาทิ ให้พื้นที่ EEC ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง กับพื้นที่อื่นที่จะออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเพิ่มเติม การดำเนินโครงการ กิจกรรม ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายฯทำหน้าที่เป็นเลขานุการมีอำนาจจัดทำแผนพัฒนา แผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค จัดซื้อ เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน เวนคืนที่ดิน ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ได้ กำหนดกระบวนการร่วมทุนกับภาคเอกชน โดยไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน PPP มีอำนาจอนุญาต อนุมัติ ให้ความเห็นชอบ ตามกฎหมายว่าด้วยการขุดดินถมดิน ควบคุมอาคาร สาธารณสุข ตรวจคนเข้าเมือง ทะเบียนพาณิชย์ โรงงาน จัดสรรที่ดิน รวมถึงการให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาต โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน และสามารถถือกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดได้เกิน 49% ของเนื้อที่ห้องชุดในอาคารชุด

สำหรับการทำสัญญาเช่าช่วงที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ให้ทำสัญญาเช่าไม่เกิน 50 ปี และการต่อสัญญาเช่าต้องไม่เกิน 49 ปี เป็นต้น

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …