หลังจากกระเเสละคร “บุพเพสันนิวาส” ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามทั้งในและต่างประเทศ จนสร้างปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ขึ้นมากมายอย่างต่อเนื่อง เช่น การรณรงค์สวมชุดไทย การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ชาติในหมู่คนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง แม้ความเจริญรุ่งเรืองซึ่งตกทอดมาสู่เมืองโคราชในรัชสมัยของพระนารายณ์มหาราช ทำให้เกิดวัดวาอาราม กำแพงเมือง และผังเมืองเมืองที่สวยงามให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชมมาจวบจนทุกวันนี้จะไม่ถูกบรรจุเข้าไปในเนื้อหาละคร แต่ออเจ้าทั้งหลายก็สามารถย้อนเวลากลับไปชมประวัติศาสตร์ของเมืองโคราชโดยพร้อมเพรียงกันได้แล้ววันนี้ที่ “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” ถ้าพร้อมแล้วไปชมกันเลยเจ้าค่ะ!

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีพัฒนาการมาจาก “หอวัฒนธรรม” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ย้อนไปเมื่อครั้งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ยังเป็น “ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม” ของวิทยาลัยครูนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และสิ่งอื่นๆ ที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนมอบให้พิพิธภัณฑ์เป็นผู้เก็บรักษาและขอซื้อเพิ่มเติมในบางส่วน เพื่อรวบรวมมาพัฒนาให้เป็นนิทรรศการที่นำเสนอเนื้อหาประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมาอย่างสวยงามและเข้าใจง่าย 

การเดินทางก็ง่ายๆ เพียงแค่เดินทางเข้าทางประตู 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แล้วตรงเข้ามาเรื่อยๆ จากนั้นเลี้ยวขวาทางแยกที่ 2 แล้วตรงมาจะพบแยกสวัสดิการ จึงค่อยเลี้ยวขวามาตามทางก็จะเจอพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาอยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคาร 10 (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม) ซึ่งจำลองรูปแบบจากประตูเมืองมาติดตั้งไว้ได้อย่างโดดเด่นและสะดุดตา ภายในพิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา จะจัดแสดงโดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นช่วงเวลาต่างๆ ทั้งหมดจำนวน 7 ห้อง พร้อมเปิดให้บริการฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ห้องที่ 1 ต้นกำเนิดอารยธรรม

เมื่อเดินเข้ามาจะเจอการจัดแสดงโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาและโลหะสำริด ซึ่งได้จากการถลุงโลหะโดยนำเอาทองแดงผสมกับดีบุกและตะกั่วแล้วนำมาหล่อขึ้นรูปเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีโครงกระดูกมนุษย์ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่สันนิษฐานว่าอยู่ในช่วงยุคสำริดอีกด้วย

และนี่คือแบบจำลองการขุดค้นทางโบราณคดี ที่แสดงให้เห็นถึงการค้นพบโครงกระดูกและโบราณวัตถุต่างๆ

ผนังห้องนี้มีการจำลองศิลปะถ้ำซึ่งเป็นร่องรอยหลักฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคนั้นด้วยนะเจ้าคะ

ในส่วนของภาพถ่ายที่จับนั้น จะมีบางห้องให้หยิบดู เป็นรูปภาพเหตุการณ์จริงให้หยิบมาดูได้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีสื่อวิดีทัศนคอยบรรยายให้ความรู้ในแต่ละยุคสมัยให้เราฟังขณะชื่นชมวัตถุโบราณที่ถูกจัดแสดงได้พร้อมๆ กัน


ห้องที่ 2   สมัยทวารวดี

ในห้องนี้จะมีการจัดแสดงเรื่องราวการก่อตั้งชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ ซึ่งแรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธ-ศตวรรษที่ ๑๒ เป็นช่วงที่วัฒนธรรมทวารวดีแพร่หลายเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนดั้งเดิม

ผนังของมุมห้องจะแสดงเรื่องราวการก่อตั้งชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ความเป็นมาได้อย่างน่าอ่านและเข้าใจง่าย

ซึ่งไฮไลท์หลักๆ ของห้องนี้ก็คือ ธรรมจักรศิลาจำลอง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ถือเป็นประติมากรรม ที่โดดเด่นของวัฒนธรรมทวารวดี แกะสลักจากหิน ลอยตัว สันนิษฐานว่าน่าจะเคยตั้งบนเสาซึ่งปักอยู่กลางแจ้งเจ้าค่ะ


ห้องที่ 3 สมัยลพบุรี

ห้องนี้ก็จะมีโบราณวัตถุจำลองเยอะหน่อย เดินเข้ามามองไปก็จะเจอป้ายสมัยลพบุรีค่ะออเจ้า ข้างล่างของป้ายจะเป็นเศียรพระพุทธรูปจำลอง ปราสาทหินจำลอง ภายในจะเป็นวัฒนธรรมของขอมที่ได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อ

ส่วนด้านล่างจะเป็น “อโรคยาศาล” ซึ่งสมัยลพบุรีจะเรียกแทนอาคารสำหรับการรักษาพยาบาล หรือรักษาโรคพูดง่ายๆ คือ เปรียบเสมือน  โรงพยาบาลในสมัยนี้ และที่เห็นตั้งแสดงอยู่นั่นคือ หินบดยา ที่ใช้สำหรับบดยารักษาโรคนั่นเอง

ส่วนนี่เป็นชิ้นส่วนเสาประดับกรอบประตูของปราสาทหิน แอบบอกว่าชิ้นนี้ไม่จำลองนะ “ของจริง” เจ้าค่าาา!!!


 

ห้องที่ 4  สมัยอยุธยา

ห้องนี้จะเป็นห้องที่จัดแสดงเกี่ยวกับความเป็นมาการสร้างบ้านแปลงเมืองของจังหวัดนครราชสีมาในสมัยกรุงศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราวปี พ.ศ. ๒๒๐๕ รวมแล้วราวๆ  ๓๕๖ ปี ที่ผ่านมา

ห้องนี้ถือเป็นห้องที่เป็นไฮไลท์หลักของการรีวิวนี้เลยเจ้าค่ะ เนื่องจากแม่การะเกดได้หลงไปในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) โปรดให้สร้างเมืองสำคัญที่อยู่ชายแดนให้มีป้อม ปราการ สำหรับป้องกัน รักษาราชอาณาจักรหลายเมือง เช่น นครศรีธรรมราช พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น จึงให้ย้ายเมืองที่ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน มาสร้างเป็นเมืองมีป้อมปราการ คือ เมืองเสมา กับ เมืองโคราฆะปุระ มาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า เมืองนครราชสีมา แต่คนทั้งหลายคงยังเรียกชื่อเมืองเดิมติดปากอยู่ จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า เมืองโคราช เมืองนี้กำแพงก่อด้วยอิฐมีใบเสมาเรียงรายตลอดมีป้อมตามกำแพงเมือง ๑๕ ป้อม ประตู ๔ ประตู สร้างด้วยศิลาแลงมีชื่อดังต่อไปนี้

  • ทางทิศเหนือชื่อประตูพลแสน นัยหนึ่งเรียกประตูน้ำ
  • ทางทิศใต้ชื่อประตูไชยณรงค์ นัยหนึ่งเรียกประตูผี
  • ทางทิศตะวันออกชื่อประตูพลล้าน นัยหนึ่งเรียกประตูตะวันออก
  • ทางทิศตะวันตกชื่อประตูชุมพล

โดยประตูเมืองทั้ง ๔ แห่งนี้มีหอรักษาการอยู่ข้างบนทำเป็นรูปเรือน (คฤห) หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา  มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนกันทุกแห่ง แต่ปัจจุบันคงเหลือรักษาไว้เป็นแบบอย่างแห่งเดียวเท่านั้น คือประตูชุมพล ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นบัญชีสงวนรักษาไว้เป็นโบราณสถานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ นอกนั้นทั้งประตูและกำแพงเมืองได้ถูกรื้อสูญแล้ว แต่ภายในห้องยังคงมีการจัดแสดงเมืองจำลองและกล่าวถึงที่มาของการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองไว้ให้เราเราชนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางศาสนาในสมัยนั้น สังเกตได้จากการสร้างวัดตามแบบชาวไทยโคราชในสมัยกรุงศรีอยุธยา  โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา ซึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงเลือกสถานที่ในการสร้างเมืองนครราชสีมา ทรงโปรดฯ ให้ช่างชาวฝรั่งเศสเขียนแปลนก่อสร้างเป็นรูปเหลี่ยม พื้นที่เมืองเก่าของนครราชสีมามีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ โดยการออกแบบให้มี  คูคลองน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันข้าศึก มีกำแพงและประตูเมือง ๔ ประตู คือ ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ (หรือประตูผี) ภายในกำแพงเมืองเก่าได้ทรงให้สร้างวัดขึ้นจำนวน ๖ วัด คือ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร), วัดบึง, วัดพายัพ, วัดอิสาน, วัดบูรพ์ และวัดสระแก้ว

ส่วนนี่คือ คันทวยไม้แกะสลักรูปนาคกลับหัว จากอุโบสถหลังเก่าวัดบูรพ์ เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยทำหน้าที่ค้ำยันชายคา แกะสลักเป็นลวดลายที่สวยงาม โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้พระยายมราชหรือสังข์ เป็นผู้สร้างวัดบูรพ์ในสมัยนั้น ปัจจุบันได้ถูกรื้อถอนไปแล้วและมอบให้พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาเป็นผู้ดูแล

และนี่เป็นอีกชิ้นส่วนจริงที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็คือ หน้าบันไม้แกะสลักจากอุโบสถวัดพายัพ เป็นศิลปะวัตถุจากวัดพายัพ (พระอารามหลวง) ซึ่งได้มอบให้พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมาเป็นผู้ดูแล ปัจจุบันอุโบสถวัดพายัพได้ถูกรื้อถอนไปแล้วและมีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นในภายหลัง


 

ห้องที่ 5 สมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อเดินเข้ามาจะพบกับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีหรือคุณหญิงโมจำลองให้ได้กราบไหว้กันใกล้ๆ ภายในผนังจะมีประวัติเหตุการณ์สำคัญของวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์การกอบกู้บ้านเมืองของท้าวสุรนารีหรือย่าโมของชาวโคราช และมีการแสดงละครเวทีวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ที่จอภาพให้ได้ดูประวัติอีกด้วย

ซึ่งจะว่าไปเมืองนครราชสีมาหรือโคราชบ้านเอ๋งมีฐานะเป็นเมืองสำคัญในด้านการทหารและการปกครองยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่1) โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” ให้ปกครองเมืองเขมรป่าดง และหัวเมืองตอนในภาคอีสาน

ภายในห้องนี้ยังจัดแสดงเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้และประวัติความเป็นมาที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจและการค้าขายในสมัยรัตนโกสินทร์


 

ห้องที่ 6 มหานครแห่งอีสาน

ห้องนี้จะแสดงถึงวิวัฒนาการของจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  การสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย การไปรษณีย์โทรเลข กำเนิดถนนมิตรภาพ กำเนิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจ การปฏิรูปการทหาร รวมทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเมืองนครราชสีมาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช รัชกาลที่ ๙

ซึ่งในรัชสมัยนี้จะมีเครื่อง “เบญจรงค์” เป็นชื่อเรียกเครื่องถ้วยชนิดหนึ่งที่มีใช้ในประเทศไทยแต่ครั้งอยุธยาสืบถึงรัตนโกสินทร์ ที่เก็บไว้ในห้องแห่งมหานคร ไว้ให้ชมถึงความเก่าแก่ความรุ่งเรืองของมหานครแห่งนี้


 

ห้องที่ 7  ของดีเมืองโคราช

ในที่สุดนิทรรศการก็ได้นำเราเดินทางมาสู่ช่วงยุคปัจจุบันของเราแล้ว ซึ่งในห้องนี้ได้มีการหยิบยกของ “ดีเมืองโคราช” มากมายมาจัดแสดงให้เราได้ชมกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่วมสมัย สามารถเดินศึกษาเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างเพลิดเพลินไม่มีสะดุด ไม่ว่าจะเป็นประวัติของมวยโคราช เพลงโคราช แมวโคราช และผ้าหางกระรอก ซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์สำคัญของเมืองโคราชได้เป็นอย่างดี

ประวัติเพลงโคราชถือเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของคนโคราชอีกประการ ที่ยังเห็นร้องรำอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี, วัดศาลาลอย และอนุสรณ์วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ จากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยย่าโมมีชีวิตอยู่ ท่านชอบเพลงโคราชมากและเชื่อต่อๆ กันมา จึงเกิดการบนบานศาลกล่าว ผู้คนหาเพลงโคราชไปรำแก้บนที่บริเวณ ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีอยู่เสมอ

และยังมีรูปแบบหนังสือการ์ตูนให้อ่านอีกด้วยนะออเจ้า นอกจากจะวาดออกมาได้น่ารักแล้วยังอ่านเข้าใจง่ายอีกด้วย

ก่อนจากกันไปข้าขอปิดท้ายรีวิวนี้ด้วย “รถสามล้อ” ซึ่งถือกำเนิดในโคราชเป็นที่แรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดย นาวาเอก เลื่อน พงษ์โสภณ โดยการนำ “รถลาก” หรือ “รถเจ๊ก” มาดัดแปลงร่วมกับรถจักรยาน ทำให้เกิดเป็นรถสามล้อ ถือเป็นต้นแบบ รถสามล้อที่ใช้ รับส่งผู้โดยสาร และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา

จบแล้วหนาออเจ้า…เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับการวาร์ปย้อนอดีตไปชมประวัติศาสตร์ความเป็นมาบ้านเมืองของออเจ้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกนำมารวบรวมไว้ให้ชมกันใน “พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา” แห่งนี้ สำหรับท่านที่ยังไม่เคยไป…ขอเชิญพิสูจน์ได้ด้วยตัวท่านเอง แล้วจะพบว่าโคราชบ้านเราอดีตที่น่าค้นหาและควรค่าแก่ความภาคภูมิใจในรากเหง้าของเรามากเพียงใด เผื่อยามใดได้ย้อนไปในอดีตเหมือนแม่เกศสุรางค์จะได้มีวิชาไปคุยกับคุณพี่หมื่นนะเจ้าคะ ส่วนครั้งหน้าจะมีรีวิวเด็ดๆ อะไรอีกบ้าง ต้องรอติดตามกันต่อไปนะเจ้าคะ ^^

 

พิกัดวาร์ป : ชั้น 2 อาคาร 10  สำนักศิลปะและวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 340 ถนน สุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

เบอร์โทรศัพท์ : 044-009009 ต่อ 1013 หรือ 1020

เปิดให้บริการทุกวัน :  เวลา 09.00 – 15.00 น. (ปิดให้บริการตามวันหยุดของมหาวิทยาลัย)


Comments are closed.

Check Also

ITD มือขึ้น! ซิวงานรถไฟทางคู่ “มาบกะเบา-จิระ” สัญญา 3 ราคาต่ำสุด 9,290 ลบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผ … …