วันที่ 31 มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อาคาร 9 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏ ( มรภ.) นครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎ มรภ.นม. พร้อม ผศ.นันทกา ปรีดาศักดิ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ฯ จัดเสวนาวิชาการ “ ใครๆก็เป็นครูได้ ใช่หรือไม่ ?” พร้อมนำเสนอผลกระทบต่อระบบผลิตครู ,ผลกระทบระยะยาวของนโยบายการสอบบรรจุครูผู้ช่วย ไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู และทิศทางการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพ ร่วมกับนายองค์กร อมรศิรินันท์ อดีตเลขาคุรุสภา ,นายออน กาจกระโทก อดีตคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) ,นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร อดีต ผอ.สพป.นม1 และ กคศ. และรศ.ดร.สุรินทร์ ยอดคำแปง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนองค์กร ข้าราชการครู ในพื้นที่ กว่า 30 คน เข้าร่วมเสวนา และแสดงความเห็นทางวิชาการ กันอย่างเข้มข้น ด้าน ผศ.ดร.อดิศร เปิดเผยว่า สิ่งที่คาดหวังจากการเสวนา คือประมวลความคิดเห็น ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตพัฒนาข้าราชการครู โดยตรง 3 ประเด็นหลัก คือ 1.อภิปรายการผลิตครู ทบทวนบทบาทหน้าที่ ศักยภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตครู ที่ยังต้องพัฒนาคุณภาพเพิ่มขึ้น มีมาตรฐาน และสถิติบัณฑิตที่จบตามหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ยังประสบปัญหามีผลสัมฤทธิ์การสอบบรรจุเข้าเป็นครู ได้ค่อนข้างน้อย รวมทั้งแลกเปลี่ยนทัศนคติ ต่อการสอบบรรจุข้าราชการครูผู้ช่วยครั้งนี้ ที่ไม่ต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพในบางวิชา อย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปแก้ไขปรับเปลี่ยนกระบวนการสอบบรรจุครูในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น 2.การปรับเปลี่ยนแก้ไขการพัฒนาข้าราชการครู โดยเฉพาะวิทยฐานะ ให้มีความเหมาะสม 3.การใช้ครูให้มีประสิทธิภาพ มากกว่าปฏิบัติภารกิจอื่นที่อยู่นอกเหนือจากภารกิจจัดการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ผลสรุป และข้อเสนอของการเสวนาครั้งนี้จะถูก รวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร เตรียมนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป รายงานระบุว่าในระหว่างดำเนินการเสวนา มีการแจกแถลงการณ์ของเครือข่ายครูแห่งประเทศไทย ถึงคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ข้อความระบุว่า “ พวกเราครูทั่วประเทศประชุมกันแล้วเห็นว่าถูกกระทำจนถึงที่สุดแล้วในการที่พวกคุณร่วมกันใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยไม่คำนึงถึงระเบียบกฎหมายและความถูกต้องเป็นธรรมไม่เคยมียุคใดสมัยใดทุกสถาบันได้รับผลกระทบมากขนาดนี้ ทุกคนมีอาชีพมีศักดิ์ศรี เมื่อมีอำนาจก็อย่าใส่ร้ายกันเกินไป วันพระไม่มีหนเดียวหรอกนะ ขอถามว่าพวกคุณทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่พวกคุณไม่ใช่คนที่สอนให้นักเรียนมีความรู้มีคุณธรรมและไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของวิชาชีพเหมือนกับคนที่ไม่ใช่หมอจะรู้จักรักษาคนไข้อย่างไร เฉพาะพวกคุณสอนหนังสือได้หรือไม่ เมื่อพวกคุณทำกับพวกเราทุกอย่างได้โดยใช้ศาลเตี้ย ม.44 กับพวกเรา พวกเราถืออหิงสา ไม่โกรธหรือเกลียดพวกคุณแต่ก็ขอประกาศไม่นับถือว่า คุณเป็นผู้บังคับบัญชาต่อไป และห้ามไม่ให้ถือว่าพวกเราคือผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จึงให้พวกคุณทำงานในหน้าที่ของพวกคุณกินเงินเดือนภาษีของประชาชนต่อไปตามอัธยาศัย แล้วต่างคนต่างทำ ไม่เกี่ยวข้องกันต่อไป สำหรับการพัฒนาการศึกษาก็ขอให้เป็นหน้าที่ของพวกคุณ และ กศจ. และให้ทำได้อย่างเต็มที่ ดีมากให้คะแนนเต็ม 100 ผิดชอบชั่วดีให้รับเอง ส่วนพวกเราก็ปรีดาปราโมทย์สบายไป 108 อย่าง” เวทีเมืองคอน ชี้ คนที่มาเรียนหลักสูตร 5 ปี คือใจรักเป็นครู ที่ห้องประชุมภักดีดำรงฤทธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช คณะครุศาสตร์ มรภ.นครศรีธรรมราช จัดเวทีสัมมนาหัวข้อ “คิดอย่างไร จะเอาใครมาเป็นครู” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผศ.ถนอม เลขาพันธ์ คณบดีคณะครุศาสตร์ รศ.ดร.ไมตรี จันทรา อ.ทวีป ปรีชาผศ.ดร.จุติพร อัศวโสวรรณ รองอธิการฝ่ายวิชาการ นายอนิรุทธิ์ อมรแก้ว อดีตนายกสภา มรภ.นครศรีธรรมราช นายณัฐภัทร นวลขาว นายกองค์การนักศึกษา ในฐานะนักศึกษาคณะครุศาสตร์ชั้นปีที่ 5 โดยมีนักศึกษาคณะครุศาสตร์หลักสูตร 5 ปี กว่า 200 คน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ผศ.ดร.จุติพร กล่าวว่า วันนี้ทาง มรภ.เราเลยจุดที่จะพัฒนาครู 4 ปี มาแล้ว ซึ่งเราจะต้องเข้าใจเจตนาว่า ครู 4ปี ที่ผลิตขึ้นมานั้นเพื่อทดแทนครูที่ขาดแคลนในระยะหนึ่ง จากนั้นให้ครูเหล่านั้นมาเรียนใบประกอบวิชาชีพครู1 ปี และจะต้องผ่านการรับรองจากคุรุสภาก่อน และสถาบันแต่ละแห่งจะต้องได้รับการรับรองจากคุรุสภาว่าเป็นสถาบันที่สามารถผลิตครูในหลักสูตรประกาศนัยบัตรวิชาชีพครูได้ เดิมที มรภ.นครศรีธรรมราช ก็รับครูมาเรียนเพื่อเอาใบประกอบวิชาชีพครู และในเวลานี้คนที่จะมาเรียนได้นั้นจะต้องเป็นครูที่สอนอยู่ในสถาบันการศึกษา สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้ส่งรายชื่อมา เพื่อรับใบปฎิบัติการสอน “เวลานี้เราผลิตนักศึกษาหลักสูตร 5 ปี เพื่อให้นักศึกษามีจิตวิญญาณของความเป็นครู 1 ปีที่จะต้องออกไปฝึกสอน ออกไปเรียนรู้มันจึงสั่งสมประสบการณ์อย่างไม่อาจเทียบได้ หลักสูตรของคณะครุศาสตร์เราสอนเด็ก เรียนรู้กับการใช้ชีวิตอยู่กับชุมชน สังคม ตั้งแต่ปี 1 เราเน้นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในการพัฒนาเด็ก ตรงตาม พรบ.การศึกษา เราไม่อยากจะพูดว่า ครู 4 ปี ดีกว่าครู 5 ปี แต่เราต้องการบอกให้ทราบว่าหลักสูตร 5 ปี เราต้องเลือกเฟ้นเด็กดี เก่ง มีคุณภาพ และมีใจรัก มีความเฉลียวฉลาด แต่ละปีที่รับนักศึกษาเข้ามาล้วนแต่เป็นเด็กที่ตั้งใจมาเรียนครู ดังนั้นนโยบายของผู้บริหารจะต้องมีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทาง มรภ.จะต้องยืนหยัดและเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เราสอนแม้กระทั่งคุณธรรมจริยธรรมให้กับครูผู้สอน” ต่อข้อถาม จะมีการพูดคุยกันหรือไม่ว่า ครู 5 ปี เมื่อเรียนจบมาแล้ว ก็สามารถบรรจุเข้าทำงานได้เลยว่า เราพูดคุยกันมากและมานานแล้วด้วย เฉพาะหลักสูตร 5 ปี กับโครงการครูคืนถิ่น ซึ่งมีประมาณ 30-35% ที่ครูเหล่านี้จะต้องกลับไปสอนในถิ่นของตัวเอง แต่จะให้เหมือนกับหมอ กับพยาบาล ที่เรียนจบแล้วมีงานทำคงเทียบกันไม่ได้ แต่จะค่อยๆขับเคลื่อนกันเป็นระบบ เชื่อว่าในอนาคตจะต้องเกิดระบบอย่างนี้แน่นอน จึงอยากให้นักศึกษา 5 ปี มุ่งมั่นกับการเรียนอย่างมีคุณภาพ กับการออกไปทำหน้าที่ครูที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติตรงตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ตรงตาม พรบ.การศึกษา เพราะครูของเราเป็นครูดีและครูเก่ง ครูมีประสบการณ์เชี่ยวชาญในการสอน ล้วนมีคุณค่าสมกับคำว่า “ครู” ดังนั้นในระดับนโยบายจึงจะต้องคิดให้ดีก่อนที่จะเอาใครมาเป็นครู และ ข้อเสนอแนะ /ความคิด ในครั้งนี้ จะรวบรวมส่งให้คณบดีไปนำเสนอในที่ประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์ /ศึกษาศาสตร์ วันที่ 1 เม.ย.60 แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market