เป็นการปรับตัวที่น่าสนใจ สำหรับผู้ให้บริการธุรกิจเดินรถรายใหญ่อย่าง “เครือเชิดชัย” ภายใต้การนำทัพของ “เจ๊เกียว” นางสุจินดา เชิดชัย ผู้สร้างธุรกิจเดินรถนี้จากอู่ซ่อมรถเล็ก ๆ พัฒนามาจนกลายเป็นอู่ต่อรถทัวร์ อีกทั้งยังมีรถทัวร์ให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 1,000 คัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา

แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นในปัจจุบัน การเดินทางที่มีหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าตั๋วเครื่องบิน “โลว์คอสต์” ที่ลดลงมากจนทำให้ผู้โดยสารหันเหเปลี่ยนใจไปใช้บริการเครื่องบินมากขึ้น ดังนั้นถ้าไม่ปรับตัวธุรกิจการเดินรถที่เคยทำแบบเดิมย่อมเดินหน้าไปต่อลำบาก

ด้วยเหตุนี้ทายาทรุ่นที่ 2 ของเครือเชิดชัย จึงต้องปรับเปลี่ยนหาช่องทางการทำธุรกิจแบบใหม่ โดยได้จัดตั้ง บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขึ้นมาในปี 2558 แม้จะอยู่ในธุรกิจขนส่ง การขนถ่ายสินค้า และคนโดยสาร แต่กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ผู้โดยสารทั่วไปเหมือนเมื่อก่อน หากแต่เป็นการรุกคืบไปสู่การรับ-ส่งผู้โดยสารให้กับสนามบินและสายการบินต่าง ๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา สายการบินแห่งชาติลาวที่มีรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือหุ้นใหญ่ ได้รับมอบรถที่จะใช้ขนส่งผู้โดยสารภายในสนามบินจำนวน 2 คัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะตลอด 2 ปีที่ดำเนินกิจการรับส่งผู้โดยสารในนามบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด มีให้บริการถึง 8 สนามบินหลักในประเทศไทย และ 3 สนามบินในต่างประเทศ รวมเป็น 11 สนามบิน มีสายการบินที่ให้บริการ ทั้งการบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส รวมถึงกลุ่มสายการบินพันธมิตร จำนวนรถรวมกว่า 80 คัน

“ยุทธนา ศรสงคราม” ผู้อำนวยการฝ่ายขายและฝ่ายปฏิบัติการสนามบิน บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นจากการที่นายสุรวุฒิ เชิดชัย ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลเชิดชัย ซึ่งอยู่กับธุรกิจอู่ประกอบรถ และการเดินรถ เห็นว่าน่าจะมีการพัฒนามากกว่าการเดินรถทั่วไปอย่างที่ให้บริการอยู่ และเห็นโอกาสจากการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ที่เกิดขึ้นมากมาย มีเที่ยวบินเยอะ ขณะที่การก่อสร้างอาคารสนามบินรองรับผู้โดยสาร แบบที่มีงวงช้างเข้ารับส่งเข้าสู่ตัวอาคารโดยตรงนั้นเติบโตไม่ทัน จึงจำเป็นต้องมีรถให้บริการรับส่งผู้โดยสาร

ในที่สุดจึงเกิดเป็นช่องทางการทำธุรกิจใหม่นอกเหนือจากจะขายรถให้กับสนามบิน รวมถึงสายการบินต่าง ๆ แบบขายขาดแล้ว ยังมีรูปแบบของการให้บริการที่ดูแลลูกค้าตลอดช่วงการใช้งาน โดยเฉพาะในส่วนของช่างซ่อมบำรุงต่าง ๆ ที่มีประจำอยู่ในแต่ละสนามบินที่รถของบริษัทให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันธุรกิจนี้ยังมีคู่แข่งค่อนข้างน้อย เนื่องด้วยเทคโนโลยีและความปลอดภัยที่มีความจำกัด ซึ่งจะต้องถูกควบคุมภายในสนามบินตามหลักสากล ดังนั้นจึงยังไม่ค่อยมีใครเข้ามาทำ ขณะที่บริษัทเชิดชัยฯมีข้อได้เปรียบหลายด้าน เช่น การเป็นอู่ประกอบรถยนต์ เทคโนโลยี ชิ้นส่วนต่าง ๆ แทบทุกอย่าง สามารถผลิตขึ้นได้เอง มีเพียงแค่เครื่องยนต์กับเกียร์เท่านั้นที่ต้องนำเข้า จึงสามารถที่จะลดต้นทุนการผลิตได้

นอกจากนั้นนโยบายภาครัฐที่มีการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกหลังเปิดประชาคมอาเซียน (เออีซี) ทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มของเออีซีถอยไปจากภูมิภาค ขณะที่เราซึ่งเป็นผู้ผลิตในกลุ่มประเทศนี้ได้รับการยกเว้น และข้อได้เปรียบอีกประการก็คือ เราเน้นการให้บริการ การซ่อมบำรุง มีช่างประจำทุกสนามบินตลอด 24 ชั่วโมง เพราะธุรกิจนี้ต้องจัดการตลอด ห้ามหยุด ไม่เหมือนการเดินรถที่ยังสามารถมีช่วงหยุดพักได้

ยุทธนายังบอกอีกว่า ธุรกิจการบริการรับส่งผู้โดยสารให้กับสนามบินและสายการบินต่าง ๆ เติบโตถึง 200% โดยบริษัทเชิดชัยฯมีสัดส่วนของรถที่สนามบิน และสายการบินต่างๆซื้อขาดที่ 60% ขณะที่ในลักษณะผู้ให้บริการครบวงจรทั้งให้บริการรับส่งภายในสนามบิน รวมถึงซ่อมบำรุงมีสัดส่วนอยู่ที่ 40% ซึ่งสามารถตัดภาระของสนามบินหรือสายการบินด้วย

ปัจจุบันบริษัทสามารถผลิตรถได้เองในประเทศไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากยุโรป และไม่เพียงธุรกิจการเดินรถรับส่งผู้โดยสารในสนามบินเท่านั้น ในอนาคตได้วางแผนที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ในสนามบินและสายการบินต่าง ๆ อีกหลายอย่างเป็นก้าวย่างสำคัญในการปรับตัวของบิ๊กอู่ต่อรถ “เชิดชัย” แห่งเมืองโคราช

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …