ค่ำวันที่ 13 ตุลาคม หลังสิ้นเสียงประกาศสำนักพระราชวังว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จสวรรคตแล้วเมื่อเวลา 15.52 น. ทั่วทั้งแผ่นดินก็เต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้… คลื่นพสกนิกรนับหมื่นนับแสนหลั่งไหลไปยังโรงพยาบาลศิริราช เพื่ออยู่เคียงพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย ในคืนเดียวกันเอง ภายในห้องทำงานของ “ก่อเกียรติ ทองผุด” นายช่างศิลปกรรมแห่งกรมศิลปากร แม้อัดแน่นด้วยความโทมนัส แต่เขาต้องข่มอารมณ์นั้นไว้เพื่อเดินหน้าทำ “ภารกิจสำคัญ”

14 ชั่วโมงของการคิดและออกแบบ ต้องแข่งกับเวลาทุกวินาที เพื่อให้ทันถึงมือ “อธิบดีกรมศิลปากร” ภายใต้โจทย์ที่ต้องยึดตามพระราชประเพณี สมพระเกียรติ และไม่เหมือนที่เคยมีมา ได้แบบพระเมรุมาศ 3 แบบ ซึ่งแบบแรกที่เกิดขึ้นในค่ำวันนั้น คือ “พระเมรุมาศทรงบุษบก 1 ยอด” ผ่านแนวคิด พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แบบที่ 2 “พระเมรุมาศทรงบุษบก 5 ยอด” คล้ายกับพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เนื่องจากยุคนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างพระเมรุมาศทรงบุษบกถวายแด่พระมหากษัตริย์ และสุดท้ายเป็นแบบ “พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอดพิเศษ” อันหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9

“ทั้ง 3 แบบนี้เสร็จประมาณ 03.00 น. เศษ คืนนั้นมีคุณธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ มาร่วมกันออกแบบกันที่บ้านของผม ไม่ได้กินน้ำกินข้าว เพราะต้องช่วยดูเรื่องรายละเอียดต่างๆ ซึ่งก็ลงความเห็นกันว่าแบบที่ 3 ที่เป็นทรงบุษบก 9 ยอดพิเศษดูสมพระเกียรติ แต่ยังไม่สมบูรณ์พอ ตอนนั้นก็เริ่มเหนื่อยล้ากันพอสมควรแล้ว”

06%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a8%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%89%e0%b8%9a%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%81%e0%b9%88
แบบพระเมรุมาศ ทรงบุษบก 9 ยอด ศึกษาและออกแบบตามหลักโบราณราชประเพณีสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำลองเขาพระสุเมรุอย่างสมพระเกียรติ / Credit : thaipublica.org

กระทั่ง 04.00 น. ในขณะที่แรงกายใกล้หมด-หนังตาใกล้ปิด “พระเมรุมาศแบบที่ 4” ก็ปรากฏขึ้นในห้วงความคิดของ “ก่อเกียรติ”

“พระเมรุมาศทรงบุษบก 9 ยอด” พระเมรุมาศเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 60 เมตร สูง 50.49 เมตร ประกอบด้วย ตรงกลางเป็นบุษบกใหญ่ยอดปราสาท 7 เชิงกลอน รายรอบด้วยบุษบกขนาดเล็กลงมาที่มุมทั้ง 4 วางลดหลั่นกันลงมา บุษบกที่วางลดหลั่นดังกล่าวให้ความรู้สึกถึงการถวายพระเกียรติ โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น ชั้นล่างสุดคือลานพื้นอุตราวรรตสำหรับการเดินเวียนซ้าย ส่วนที่เหลือเป็นชั้นชาลาที่ 1 ชั้นชาลาที่ 2 ชั้นชาลาที่ 3 และชั้นชาลาที่ 4 โดยชั้นชาลาที่ 4 เป็นที่ตั้งจิตกาธานประดิษฐานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

05%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b9%80%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b8%a1%e0%b8%b2%e0%b8%a8
Credit : thaipublica.org

แนวคิดการจัดวางยอดมาจากพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วัดที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสมหามงคลทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี 2539

หลักใหญ่ในการออกแบบพระเมรุมาศวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า บุษบกใหญ่ที่อยู่กึ่งกลางเปรียบดัง “เขาพระสุเมรุ” หมายถึงศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาลตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ อันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีวิญญาณในภพภูมิต่างๆ และองค์ทวยเทพ บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์ มีสัตว์หิมพานต์น้อยใหญ่และสระอโนดาต ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ 5 สาย ส่วนบุษบกน้อยใหญ่ที่รายล้อมนั้น เปรียบได้กับทิวเขาทั้ง 7 รายรอบ เรียกว่า “สัตบริภัณฑ์คีรี” และหากกล่าวถึง “พระมหากษัตริย์” ตามความเชื่อพราหมณ์นั้น ก็ทรงเป็นสมมติเทพสถิตบนเขาพระสุเมรุที่มาจุติลงมายังโลกมนุษย์ เมื่อสวรรคตก็มีการจัดพระราชพิธีส่งดวงพระวิญญาณกลับสู่เขาพระสุเมรุดังเดิม

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านเป็น 2 นัยยะคือ พระนารายณ์อวตาร ซึ่งในพระนามเต็มของพระองค์ใช้คำว่า “รามาธิบดี” และพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ที่เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ตอนนี้เรากำลังสร้างเขาพระสุเมรุเพื่อส่งพระองค์ไปยังสวรรคชั้นดุสิต ยอดของพระเมรุมาศจะเป็นประติมากรรม มีพระโพธิสัตว์รายรอบ เราพยายามเทียบเคียงกับคัมภีร์ไตรภูมิพระร่วง และรูปแบบนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน” ผู้ออกแบบขยายความ

งานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ให้ความสำคัญ “สระอโนดาตเสมือนจริง” จะถูกขุดขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานประดับฉากบังเพลิงด้านนอกด้วยสีชมพูอมทอง ด้านหน้าเขียนภาพจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ ด้านในเขียนภาพดอกไม้ เขียนโดยช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภว่า อยากให้สอดแทรกโครงการพระราชดำริอยู่ในฉากบังเพลิง จึงแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เบื้องต้นโครงการที่จะนำมาวาด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ไบโอดีเซล โครงการแกล้งดิน โครงการชั่งหัวมัน กังหันชัยพัฒนา โครงการฝนหลวง

“ก่อเกียรติ” ระบุว่า แบบพระเมรุมาศครั้งนี้ ถือเป็นสถาปัตยกรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยแท้จริง ผสานกับสถาปัตยกรรมร่วมสมัยรัชกาลที่ 9 ดังนั้นสีพระเมรุมาศจะมีทั้งสิ้น 5 สี ได้แก่ สีทอง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพ สีขาว คือธรรมแห่งการปกครอง สีน้ำเงิน แทนพระมหากษัตริย์ สีชมพู เสริมความมงคล และสีเขียว หมายถึงทรงนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่แผ่นดินไทย

10%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%b4
ครูกับศิษย์ : พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น (ซ้าย) ทำงานออกแบบร่วมกับ ก่อเกียรติ ทองผุด (ขวา) / Credit : thaipublica.org

 

ทั้งหมดนี้ “ก่อเกียรติ” ได้วิชามาจาก “บรมครูสถาปัตยกรรมไทย” ที่ชื่อ “พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น”ศิลปินแห่งชาติด้านทัศนศิลป์ และเป็นผู้ออกแบบแบบพระเมรุมาศถวายแก่เจ้านายชั้นเจ้าฟ้า 3 พระองค์ ที่ส่งทอดมาให้ นับตั้งแต่มีโอกาสเป็นลูกมือในการออกแบบพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2539 พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ปี 2551 และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ปี 2555

เป็นเวลากว่า 20 ปี เขาพัฒนาฝีมือเรื่อยมา จนถึงวันที่ “อาจารย์” จากไป แต่วิชา ตำรา และข้อคิดในการทำงานยังอยู่ในตัว “ศิษย์” อย่าง “ก่อเกียรติ” เสมอ

ทำให้เขามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชาติ ได้ร่วมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผ่านสถาปัตยกรรมแห่งแผ่นดินไทยที่ยิ่งใหญ่ และงดงามที่สุดเท่าที่เคยมีมา!!!

ศิษย์มีครูชื่อ “อาวุธ เงินชูกลิ่น” ทำงานร่วมกันเหมือน “หายใจรดต้นคอ”

เพราะความสนใจในศิลปะ ทำให้ชีวิตของ “ก่อเกียรติ ทองผุด” เข้าไปเกี่ยวข้องกับศิลปะตั้งแต่เล็กจนโต

หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปหัตถกรรม จ.นครศรีธรรมราช เขาสอบเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยเพาะช่าง เพลิดเพลินอยู่กับงานเขียนประติมากรรมสีน้ำมัน ก่อนมาคว้าวุฒิปริญญาตรีที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร

ในระหว่างหาข้อมูลเพื่อเตรียมศึกษาต่อระดับปริญญาโท “ก่อเกียรติ” เห็นประกาศกรมศิลปากรเปิดรับสมัครนายช่างศิลปกรรม จึงไป “ลองสอบ” เข้าทำงาน หวังช่วยแบ่งเบาภาระทางบ้าน

ที่นี่เองที่ทำให้เขามีโอกาสพบกับ “ครู” นอกห้องเรียน!

ในระหว่างเข้ารายงานตัว หลังได้รับการบรรจุเข้ารับราชการตำแหน่ง “นายช่างศิลปกรรม” เขาเห็น “ชายคนหนึ่ง” ง่วนอยู่กับการเขียนแบบ จึงเอ่ยถาม “ทำอะไรอยู่ครับ แบบนี้เขียนอย่างไร..?”

 

7
Credit : jannsri.blogspot.com

 

นั่นคือบทสนทนาแรกของ “ก่อเกียรติ” กับ “พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น”!

1 ปีต่อมา เขาสอบเข้าเรียนปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ จึงคิดจะลาออกจากราชการ แต่ “อาจารย์อาวุธ” ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร (ตำแหน่งขณะนั้น) ทัดทานไว้ เพราะชื่นชอบผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยของเขา

“อาจารย์เคยให้เขียนงานเรือนไทยต่างๆ เช่น เรือนไทยที่อัมพวา ศาลาทรงไทย อุโบสถวัด ก็เขียนมาหลายครั้ง จนวันหนึ่งท่านเรียกให้ไปทำแบบขยายบุษบกของวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่มีความเข้าใจเรื่องสถาปัตยกรรมไทยเลย แต่อาจารย์ให้โอกาส และแนะนำหนังสือของพระพรหมพิจิตรชื่อ ‘พุทธศิลป์สถาปัตยกรรม’ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้ามาตั้งแต่นั้นอย่างจริงจัง และตั้งใจว่าต้องทำให้ได้ แม้จะทำไม่เป็นก็ตาม เพราะไม่อยากขีดกรอบจำกัดตัวเอง มันจะทำให้เกิดความพ่ายแพ้ใจตัวเอง บวกกับมีรุ่นพี่ในกรมคอยให้ความรู้ ทำให้เราเริ่มเข้าใจและทำได้ และได้รับความไว้ใจจากท่าน” ก่อเกียรติเล่าอย่างภูมิใจ

การออกแบบสถาปัตยกรรมไม่ได้ออกแบบครั้งเดียวแล้วจบ “อาจารย์อาวุธ” มักสอน “ลูกศิษย์” ด้วยการวิจารณ์แบบตัวต่อตัว เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้แบบนั้นออกมาดีที่สุด นี่คือเทคนิคการทำงานสถาปัตยกรรมลายไทย ขณะเดียวกันก็ให้อิสระในการทำงานอย่างเต็มที่

03%e0%b8%81%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a3%e0%b8%95%e0%b8%b4%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%b8%e0%b8%98
ครูกับศิษย์ : พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น (ซ้าย) ทำงานออกแบบร่วมกับ ก่อเกียรติ ทองผุด (ขวา) / Credit : thaipublica.org

 

“ก่อเกียรติ” เชื่อว่า หากผลงานไม่ผ่านการวิจารณ์จาก “อาวุธ” ในวันนั้น เขาคงก้าวมาไม่ถึงทุกวันนี้

“เวลาทำงานกับท่านเหมือนหายใจรดต้นคอ แบบแผ่นเดียว ท่านเขียนทีหนึ่ง ผมเขียนทีหนึ่ง เรียกได้ว่าเขียนด้วยกัน ทำงานไปด้วยกัน แต่ถามว่าเราเคารพท่านแค่ไหน ท่านเป็นทั้งครู เป็นอธิบดีกรมศิลปากร เป็นถึงศิลปินแห่งชาติ แต่เราต้องยกสิ่งเหล่านั้นวางไว้ก่อน เราทำไม่ได้ตรงไหน ต้องถาม และบอกท่านไปตรงๆ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นในตัวเอง และแสดงออกมาให้ท่านเห็นอย่างเหมาะสม” ก่อเกียรติระบุ แล้วโอกาสแรกก็มาถึง เมื่อ “ก่อเกียรติ” ได้รับเลือกให้ออกแบบ “พระที่นั่งทรงธรรม” ในงานพระราชพิธีถวาย

พระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2539

เขาได้ “ความรู้ใหม่” จากการทำงานจริง ว่างานสถาปัตยกรรมลำลองแตกต่างจากสถาปัตยกรรมถาวรอย่างไร โดยเฉพาะวัสดุต่างๆ ที่ต้องลดหลั่นลงมา “อาจารย์อาวุธ” ได้เขียนองค์ความรู้ต่างๆ ใส่ไว้ในกระดาษ ซึ่งลูกมืออย่างเขายังเก็บเอาไว้ถึงทุกวันนี้

เมื่อแบบพระที่นั่งทรงธรรมเสร็จสมบูรณ์ ก็ได้รับมอบหมายให้ออกแบบศาลาลูกขุนที่เหลือ และได้รับความไว้วางใจจากผู้เป็น “อาจารย์”

นอกจากองค์ความรู้ใน “จดหมายน้อย” ของ “อาจารย์อาวุธ” ในห้องทำงานของ “ก่อเกียรติ” ยังมี “พระพิฆเนศ” ที่อาจารย์มอบให้เป็นของขวัญวันขึ้นบ้านใหม่เมื่อ 3 ปีก่อน และเพื่อไว้บูชา โดยบอกว่า “จะทำให้งานลื่นไหล ไม่มีอุปสรรค”

“ถ้าถามว่าท่านทิ้งอะไรไว้ให้กับเรา บอกได้ว่าท่านให้ทุกอย่าง โดยเฉพาะหลักข้อคิดในการทำงาน 4 ข้อ คือ ‘คิดให้ออก’ ต้องหาแรงบันดาลใจให้ได้ ถัดมาคือ ‘ทำให้ได้’ ต้องเขียนแบบออกมาให้ได้อย่างที่คิดและจินตนาการไว้ และต้อง ‘ทำให้ถูกต้อง’ ตามหลักการ หรือแบบราชประเพณี ไม่ใช่แค่สวยงามเท่านั้น และสุดท้าย สำคัญที่สุด คือ ‘ทำให้สำเร็จ’ 4 ข้อนี้เป็นสิ่งที่ผมยังคงนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงาน” ก่อเกียรติกล่าว

แม้ยึดคำสอน “ครู” เป็น “คาถาวิชาชีพ” แต่ “ศิษย์เอก” ไม่อยากเป็น “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” เพราะวันหนึ่งมันอาจเติบโตแล้วปกคลุมต้นที่ให้กำเนิด

“ผมอยากเป็นลูกไม้ที่หล่นไกลต้น เพื่อวันข้างหน้าจะได้เอาพันธุกรรมที่ดี หรือความรู้ที่ดีไปกระจายให้กับเด็กรุ่นหลังต่อไป” ก่อเกียรติกล่าวทิ้งท้าย

 

แหล่งข้อมูลและภาพประกอบ : thaipublica.org


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …