จากกรณีข่าวแพทย์เสียชีวิตจากการทำงานอย่างหักโหมนั้น เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์อย่างหนัก โดยเฉพาะแพทย์ส่วนหนึ่งได้มีการแชร์ข้อความแสดงความไม่พอใจผ่านเฟซบุ๊ก เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้มีระบบในการดูแลมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาความขาดแคลนแพทย์ของประเทศไทยว่า เป็นห่วง เห็นใจ และเข้าใจถึงความยากลำบากในการทำงานของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุขทุกคน ที่พยายามทำงานเพื่อประชาชนให้ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและผู้บริหารทุกคนได้เร่งแก้ปัญหา ทั้งการปฏิรูประบบบริการ แผนพัฒนากำลังคน เชื่อมั่นว่าระบบสุขภาพของประเทศจะดีขึ้น มีความสมดุลระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ

“เบื้องต้นได้วางแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต 4 ข้อ คือ  1.มอบผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร่วมหารือจัดเวลาทำงานให้เหมาะสมตามสภาพของโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยหรือปริมาณงาน 2.ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลและผู้บริหารศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา ดูแลให้คำปรึกษาน้องๆ แพทย์จบใหม่ อย่าให้รู้สึกโดดเดี่ยว ช่วยให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหา รวมทั้งร่วมแก้ปัญหา 3.เร่งรัดจัดทำระเบียบช่วยเหลือเบื้องต้นกับบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการให้บริการและเสนอให้มีระเบียบเยียวยาช่วยเหลือ และ 4.พัฒนาระบบฉุกเฉินให้มีแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินดูแลในห้องฉุกเฉิน” ปลัด สธ.กล่าว

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดแคลนแพทย์มีมานาน และมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ 20 ปีก่อน สัดส่วนแพทย์ 1 คนต้องดูแลประชากรถึง 5,000 คน แต่ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นหน่วยงานในการดูแลประชาชน ในบางพื้นที่ต้องดูแลถึง 1:30,000 คน จึงต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่ม เกิดเป็นโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยตลอด 23 ปีของโครงการฯ ช่วยเพิ่มการผลิตแพทย์เข้าสู่ระบบได้มากถึง 7,000 คน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลชุมชน กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมดีขึ้นเป็น 1 ต่อ 1,900 คน และบางพื้นที่อาจ 1:10,000 ซึ่งยังไม่เพียงพอตามภาระงานและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประชาชนเข้าถึงระบบบริการได้มากขึ้นตามระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ล่าสุดได้เพิ่มการผลิตแพทย์ โดยในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เพิ่มจากปีละ 3,000 เป็นปีละ 3,200 คน คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะมีแพทย์ต่อประชากร 1 ต่อ 1,250 คน

 นพ.โสภณกล่าวว่า นอกจากจะเพิ่มจำนวนแพทย์แล้วช่วยให้สัดส่วนต่อประชากรดีขึ้นมาก สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญคือมาตรฐานการรักษา ตอบสนองความต้องการของสังคมด้านคุณภาพการรักษา ซึ่งสร้างความกดดันต่อระบบสาธารณสุข ต่อแพทย์ และวิชาชีพอื่นๆ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์จบใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับแพทยสภาดูแลแพทย์กลุ่มนี้เป็นพิเศษ กำหนดให้มีหลักสูตร “แพทย์เพิ่มพูนทักษะ” เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนในประเทศไทยผ่านหลักสูตรนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์พี่เลี้ยงและอาจารย์แพทย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ตัวแพทย์เองรวมถึงผู้ป่วยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการเพื่อตรวจประเมินสถาบันและโรงพยาบาลที่ฝึกอบรมแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดทั้งในระดับเขตสุขภาพ และในระดับโรงพยาบาลที่มีองค์กรแพทย์ ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์และทันตแพทย์ทั้งโรงพยาบาล ร่วมกันดูแลแพทย์กลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์จบใหม่ทุกคนมีทักษะ ประสบการณ์ ให้บริการประชาชนด้วยความมั่นใจและจะร่วมหารือแพทยสภา ราชวิทยาลัย และคณะแพทย์เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ที่เหมาะสมต่อไป

 

Matichon
แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …