เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่ให้ทั้งความรู้ สนุกสนานเพลิดเพลิน และแน่นอนว่ากลายเป็นสถานที่เช็กอินแห่งใหม่ไปแล้ว เมื่อสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดบ้านให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับพรรณไม้และแมลงนานาชนิดได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่าที่เคย ที่สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา

มนตรี แก้วดวง ผู้อำนวยการสถานีวิจัยลำตะคอง กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสถานีวิจัยว่า จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรองรับงานวิจัยและการพัฒนาด้านการเกษตรเป็นหลัก ที่นี่จึงเป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งบริการทางวิชาการให้กับนักเรียน นักศึกษา เกษตรกร รวมถึงประชาชนที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับทางด้านการเกษตร พลังงาน รวมถึงความรู้ด้านแมลงที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรด้วยเช่นกัน

บนเนื้อที่ 800 ไร่ ของสถานีวิจัยลำตะคอง เป็นที่ตั้งของอาคาร 2 หลัง “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1” จัดแสดงนิทรรศการ “มหัศจรรย์พรรณไม้ ครั้งที่ 1” ที่โชว์พรรณไม้หายากของทั้งไทยและต่างประเทศ สีสันสวยงาม 6 โซน ตามประเภทต่างๆ นับตั้งแต่โซนไม้หายาก โซนไม้อิงอาศัยและกล้วยไม้ เช่น รองเท้านารีชนิดต่างๆ โซนไม้เขตอบอุ่น ไม้อัลไพน์ และไม้จากยอดดอย โซนไม้น้ำ จัดแสดงในตู้ปลากว่า 30 ชนิด รวมถึง “มะหิ่งซำ” ไม้สนหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก คาดว่าปัจจุบันมีอยู่เพียง 1,000 ต้นเท่านั้น

โซนไม้ทะเลทรายและไม้อวบน้ำ เช่น ปีศาจทะเลทราย, ไข่มุกทะเลทรายหรือแฟรงกินเซนส์ และโซนพืชวิวัฒนาการต่ำ เช่น ปรงสระบุรี, ปรงสามร้อยยอด, เฟินกีบแรดไทย ฯลฯ

สำหรับ “อาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 2” จัดแสดงหมวดหมู่พรรณไม้ตามวิวัฒนาการ และจัดแสดงการใช้ประโยชน์จากพืช

ที่ไม่ควรพลาดคือ “พิพิธภัณฑ์การอนุรักษ์แมลงเขตร้อน” ซึ่งแค่เพียงเดินเข้าไปในพื้นที่ส่วนที่ 1 ในโซนจัดแสดงแมลงมีชีวิต บริเวณ “ลานเปิดโล่งชมผีเสื้อเขตร้อนบินอิสระ” จำลองพื้นที่ป่าขนาดย่อมๆ เต็มไปด้วยผีเสื้อและแมลงต่างๆ ตามธรรมชาติ

ที่นี่มีไฮไลต์แมลงที่ต้องมาชมให้เห็นกับตา เช่น ตั๊กแตนกิ่งไม้, ด้วงกว่างดาว ซึ่งเป็นแมลง 1 ใน 20 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ซึ่งกินยางไม้เป็นอาหารจากการใช้ฟันเจาะตามบริเวณเปลือกไม้ในป่าเป็นอาหาร

พื้นที่ส่วนที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์และห้องภาพเพื่อการเรียนรู้วงจรชีวิต รวมถึงวิถีชีวิตของแมลงชนิดต่างๆ เช่น ผีเสื้อปีกนกโกไลแอธ ซึ่งเป็นผีเสื้อที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จากหมู่เกาะโซโลม่อน ในปาปัวนิวกินี

อีกมุมหนึ่งของห้องเป็นโซนจัดแสดงแมลงมีชีวิตในกล่องใส เช่น ตั๊กแตนตำข้าวมอส ตั๊กแตนตำข้าวหญ้าแห้ง รวมถึงด้วงกว่างสามเขาจันทร์ และด้วงกว่างเฮอร์คิวลีส เป็นต้น

จากนั้นขึ้นบันไดไปยังพื้นที่ส่วนที่ 3 โซน “เนิร์สเซอร์รี่แมลง” จุดเด่นของโซนนี้ต้องยกให้ “ตั๊กแตนตำข้าวดอกไม้ปีศาจ” ซึ่งมีที่มาจากแถบป่าอะเมซอน ประเทศบราซิล ในทวีปอเมริกาใต้ ถือเป็นตั๊กแตนตำข้าวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ “ราชินีแห่งตั๊กแตนตำข้าว”

แต่หากมันถูกจู่โจมหรือถูกคุกคามเมื่อใด จะยกขาคู่หน้าที่มีสีสันฉูดฉาดขึ้นทันที เพื่อเป็นการขู่ศัตรูได้อย่างน่าเกรงขาม จึงได้รับการขนานนามอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกไม้ปีศาจ”

สถานีวิจัยลำตะคอง รวบรวมดอกไม้ พันธุ์พืช และแมลงหลากชนิด มาให้สัมผัสธรรมชาติแบบใกล้แค่เอื้อม พร้อมสาระที่เข้าใจง่าย ได้ความสนุก เที่ยวได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แนะนำว่าปักหมุดไว้ให้ดี ถ้าไม่แวะ จะถือว่ามาไม่ถึงเขาใหญ่ก็ไม่ผิดนัก


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …