เดินเครื่องก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2559 สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เฟสแรก จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กม. ที่ “ร.ฟ.ท.-การรถไฟแห่งประเทศไทย” ใช้เงินก่อสร้าง 113,660 ล้านบาท

ไล่เรียงรายเส้นทาง มี 2 เส้นทางจะแล้วเสร็จในปี 2562 “ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย” แยกงานก่อสร้างออกเป็น 2 สัญญา งานสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง คืบหน้า 66% ตามสัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. 2562

สัญญาที่ 2 งานสร้างทางรถไฟช่วงวิหารแดง-บุใหญ่ พร้อมอุโมงค์ลอดใต้เขาพระพุทธฉาย คืบหน้า 98% สัญญาจะสิ้นสุดวันที่ 18 มี.ค. 2561 ตามแผนของ ร.ฟ.ท. ภายในเดือน ต.ค. 2561 จะประเดิมเปิดบริการช่วงฉะเชิงเทรา-บางน้ำเปรี้ยว ระยะทาง 20 กม.

เส้นทาง “ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น” ปัจจุบันผลงานถึงจะยังล่าช้าจากแผนอยู่บ้าง แต่โดยรวมคืบหน้า 52% ตามสัญญาจะแล้วเสร็จวันที่ 18 ก.พ. 2562

อีก 5 เส้นทางที่เหลือ ได้แก่ ลพบุรี-ปากน้ำโพ, มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร โครงการได้เริ่มการก่อสร้างวันที่ 1 ก.พ. 2561 มีปรับแบบรายละเอียดช่วง “คลองขนานจิตร-ถนนจิระ” เนื่องจากทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หากทางคู่เฟสแรกสร้างเสร็จจะทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านตันต่อปี จากปัจจุบันรถไฟขนได้ 10 ล้านตันต่อปี เนื่องจากเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้เน้นย้ำกับ ร.ฟ.ท.เรื่องบทบาทของรถไฟเพื่อรองรับกับโครงการใหม่ ๆ ทั้งการบริหารจัดการ จัดหาขบวนรถ และเร่งแผนลงทุนทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,174 กม. เงินลงทุน 427,012 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม จะเสนอเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการได้เป็นอันดับแรกภายในเดือน มี.ค.นี้

“ทางคู่เฟส 2 แล้วเสร็จ คาดว่าในปี 2570 จะทำให้ปริมาณขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านตันต่อปี และผู้โดยสาร 80 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 35 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า”

ขณะเดียวกันให้ปรับปรุงการบริการหลังจากทางคู่สร้างเสร็จแล้วจะทำให้สามารถเดินรถได้เร็วขึ้น และใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง ให้แบ่งเป็นประเภทของการให้บริการมี 4 รูปแบบ เช่น ระดับพรีเมี่ยมเป็นขบวนรถไฟที่ใช้ระยะเวลาในการเดินทางน้อยที่สุด เช่น กรุงเทพฯ-เชียงใหม่

 


แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …