แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้เจอแค่วิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า แต่ยังมีประเด็นเรื่องโรคไข้หวัดนกอีกด้วย โดยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ว่าพบสัตว์ป่วยตายในสวนสัตว์ จนนำไปสู่การตรวจสอบยืนยันว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนก และยังพบในหลายจังหวัดอีก ซึ่งเรื่องนี้มีการประชุมกันของกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีนักระบาดวิทยาเข้าร่วมด้วย โดยมีแนวทางและมาตรการต่างๆในการป้องกันการระบาด ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ก็มีแนวทางและควบคุมได้ แต่ยังไม่มีการแจ้งความคืบหน้าใดๆ เพราะเรื่องนี้ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะให้รับรู้ เพื่อร่วมกันทุกฝ่ายในการป้องกันโรค จริงๆ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหากควบคุมไม่ดีจะยิ่งลุกลาม ดีที่ไม่ติดต่อมาสู่คน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาหนักแน่ๆ

“สัตว์ในสวนสัตว์ในจ.นครราชสีมาที่ป่วยตายนั้น ไม่ใช่สัตว์ปีก แต่เป็นเสือปลา อีเห็น ชะมด และอื่นๆ และมีเจ้าหน้าที่สัมผัสสัตว์จำนวนมาก เมื่อมีการตรวจพบว่า สัตว์เป็นไข้หวัดนก และลามออกไปนอกสวนสัตว์ด้วย แพทย์จึงเอะใจและได้ส่งข้อมูลให้กรมควบคุมโรค ซึ่งเรื่องนี้กรมปศุสัตว์ทราบเรื่องดี ส่วนตัวเห็นว่าควรแจ้งให้แพทย์รักษาคนได้รับทราบ โดยเฉพาะในพื้นที่มีเชื้อนี้ เนื่องจากหากแพทย์ไม่ได้รับแจ้ง และเกิดระบาดกระจายไปทั่วในสัตว์ ย่อมเสี่ยงถึงคน ซึ่งอันตรายมาก โดยเชื้อนี้จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ แพทย์ก็ไม่ได้เอะใจหรือเฝ้าระวังถึงไข้หวัดนก ยิ่งทำให้เสี่ยงมากขึ้น ที่สำคัญต้องระวังมากๆ คือ การไม่บอกข้อมูลริง อาจจะทำให้เกิดการลุกลามทั่วประเทศ และทราบมาว่า เชื้อหวัดนก แม้จะเป็นเบอร์เดิมแต่ก็เป็นเชื้อที่รุนแรงขึ้น เป็นการติดในสัตว์ 4 เท้าตามที่มีการตรวจเจอ แสดงว่าเชื้อมีการปรับตัวสูงขึ้น และอนาคตหากยังมีการปกปิดข้อมูลและไม่ได้มีการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ก็อาจทำให้เชื้อปรับตัวมาสู่คน และพัฒนาต่อไปติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า การไม่เปิดเผยข้อมูลการระบาดของโรคนี้ในสัตว์  ทำให้สธ.ที่ดูแลโรคในคนไม่มีการตั้งรับที่เข้มข้นขึ้น หากคนติดโรคนี้แสดงว่าต้องมีการเจอโรคในสัตว์มาก่อน ต่างประเทศก็จะตั้งคำถามประเทศไทยทันทีว่า ทำไมไม่มีการรายงานการระบาดในสัตว์ให้ต่างประเทศรับรู้ เพราะองค์กรนานาชาติ องค์การอนามัยโลก   มีการกำหนดว่าหากมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ต้องรายงานทันที เพื่อให้ประเทศอื่นโดยเฉพาะที่ใกล้กันได้เฝ้าระวัง จะเห็นที่ผ่านมา ประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีการรายงาน แต่ประเทศไทยไม่มีการรายงาน ทำให้ประเทศอื่นๆไม่ทราบข้อมูลและไม่ได้ระวังพิเศษแหล่งข่าว กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่เห็นในพื้นที่ คือ เมื่อหน่วยงานรัฐไม่ได้มีการแจ้งเตือนชาวบ้านว่ามีโรคไข้หวัดนกระบาดในสัตว์ในพื้นที่ เมื่อเป็ด ไก่ หรือสัตว์อื่นๆล้มตาย ชาวบ้านก็จะนำมากินเพราะถือว่าไม่ได้มีความเสี่ยงที่จะติดโรคเพราะรัฐไม่ได้เตือน ก็จะทำให้ชาวบ้านเสี่ยงที่จะติดโรคมาก แต่หากมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานรัฐให้ชาวบ้านรู้ก่อนที่จะมีการตายของสัตว์ผิดปกติในพื้นที่ ชาวบ้านจะได้ระวังไม่นำสัตว์ที่ตายผิดปกติมากิน เพราะฉะนั้น การไม่ปิดข้อมูลการระบาดในสัตว์จึงมีความหมายมากในระดับพื้นที่และประชาชน

 


แหล่งข้อมูล : มติชนออนไลน์


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …