เมื่อช่วงสายวันนี้ ( 8 ตุลาคม ) ที่พื้นที่ก่อสร้างโครงการคลังสเตชั่น หรือ คลังพลาซ่า 4 “ สถานีแลนด์มาร์คใหม่โคราช ” รูปแบบห้างกึ่งคอมมูนิตี้มอลล์แบบผสมผสาน รวม 10 อาคาร สูง 3 ชั้น แยกเป็น 4 โซนหลัก โซนคลังเพลิน,โซนคลังสเตชั่น ,โซนคลังมาร์เก็ต และโซนแบล็คยาร์ด จอดรถได้ 550 คันพร้อมชั้นใต้ดิน สร้างบนที่ดิน17 ไร่ ริมถนนพิบูลละเอียด จุดตัดทางข้ามรถไฟ บริเวณห้าแยกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จังหวัดนครราชสีมา พบคนงานก่อสร้างของบริษัท คริสเตียนีและนีสเส็น (ไทย) จำกัด มหาชน กำลังเร่งเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักและอุปกรณ์ก่อสร้างออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ฯ โดยมีวิศวกรคอยสั่งการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมอย่างเข้มงวด เหลือทิ้งไว้แต่ทาวเวอร์เครน 2 ตัว และเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ต้องใช้รถเครนดำเนินการ การหยุดก่อสร้างโครงการมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท กะทันหัน ได้สร้างเครื่องหมายคำถามให้กับชาวโคราช ต่างวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้ระดมคนงานกว่า 400 คน เร่งก่อสร้างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 61 ตามที่เปิดแถลงข่าวอย่างยิ่งใหญ่ ด้านนายไพรัตน์ มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังมาร์เก็ต เดชอุดม จำกัด เจ้าของโครงการ ฯ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้ระงับการก่อสร้างโครงการคลังสเตชั่น ซึ่งได้รับสิทธิการเช่าที่ดินย่านสถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อปลูกสร้างอาคารโครงการ ฯ โดยมี บมจ.คริสเตียนนี และนีลเส็น (ไทย) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง กำหนดระยะเวลา 365 วัน เริ่มสัญญาวันที่ 2 พฤษภาคม 60 สาเหตุที่ชะลอโครงการ ฯ ทั้งๆที่ได้ดำเนินก่อสร้างชั้นใต้ดินของอาคารหลักคืบหน้าไปกว่า 40 % เนื่องจาก บริษัท ฯ ได้รอความชัดเจนของรูปแบบโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา และโครงการรถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เพื่อให้โครงการคลังสเตชั่น ผู้เช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งมีที่ตั้งห่างจากอาคารสถานีรถไฟนครราชสีมา ประมาณ 200 เมตร ต้องได้รับประโยชน์จากทั้งสองโครงการ ฯ ของรัฐบาล จึงส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ถึง รฟท. สอบถามรายละเอียดรูปแบบการโครงการฯ ช่วงผ่านสถานีรถไฟนครราชสีมา เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อโครงการฯ เช่น ถูกบดบังทัศนียภาพ ขวางกั้นเส้นทางจราจรเข้า –ออก บริษัท ฯ ต้องการเชื่อมโยงการเดินทางในรูปแบบทางสัญจรลอยฟ้า หรือสกายวอล์คเกอร์ ข้ามทางรถไฟถึงอาคารคลังสเตชั่น จึงต้องชะลอการก่อสร้าง ฯ เพื่อทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการฯ ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการของ รฟท. หากเดินหน้าก่อสร้างโดยไม่ทราบข้อมูลชัดเจนอาจส่งผลให้เกิดความเสียหายภายหลัง “ส่วนระยะเวลากลับมาก่อสร้างโครงการ ฯ เมื่อทราบรายละเอียดรูปแบบแล้ว บริษัท ฯ จะเร่งดำเนินโครงการ ฯ ทันที ขอยืนยันมิได้ขาดสภาพคล่องทางการเงินหรือปัญหาอุปสรรคอื่นๆ ส่วนความเสียหายในการดำเนินโครงการ ฯ โดยเฉพาะค่าจ้าง 3 งวด ได้พูดคุยชี้แจงเหตุผลกับ บมจ.คริสเตียนนีและนีลเส็น (ไทย) เป็นที่เข้าใจตรงกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างประมาณการ ฯ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท บริษัท ฯ จะทยอยจ่ายให้ครบตามสัญญา ส่วนข้อครหาเป็นเล่ห์เหลี่ยมในการยกเลิกสัญญาก่อสร้างกะทันหัน ท้าให้ตรวจสอบประวัติการดำเนินธุรกิจของครอบครัวไม่เคยฉ้อโกงหรือใช้กลอุบายแต่อย่างใด” เสี่ยเหลียง เป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง อดีตเทศมนตรีนครราชสีมา กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น นายไพรัตน์ฯ หรือเสี่ยเหลียง ทายาทเจ้าสัวใหญ่ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง ได้รับกองมรดกจากนายไพศาล มานะศิลป์ ผู้เป็นพ่อ ถือเป็นเจ้าของตำนาน “ ลอดลายมังกรเมืองโคราช ” ตัวจริง ซึ่งนายไพศาล สร้างเนื้อสร้างตัวจากวิ่งขายสลากกินแบ่งรัฐบาลตามสถานีรถไฟ ก่อตั้งร้านคลังวิทยา เมื่อปี พ.ศ 2501 จำหน่ายเครื่องเขียน แบบเรียน ปี 2519 เปิดสาขาที่ 2 ห้างคลังวิทยาดีพาร์ทเม้นสโตร์ สาขาถนนอัษฏางค์ ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกในเขตอีสาน ที่มีบันไดเลื่อน ปี 2529 เปลี่ยนชื่อเป็น คลังพลาซ่า ปี 2534 ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ก่อตั้งห้างสรรพสินค้าคลังพลาซ่า สาขาถนนจอมสุรางค์ยารต์ ปี 2554 ขยายเพิ่มห้างคลังวิลล่า สาขาถนนสุรนารายณ์ ปัจจุบันคลังพลาซ่าดำเนินธุรกิจนานกว่า 60 ปี ทั้ง 3 สาขามีทำเลที่ตั้งค้าขาย จับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งเป็นทำเลที่ดีใกล้แหล่งชุมชน และสถานที่สำคัญหลายแห่ง ทำให้คลังพลาซ่าเป็นห้างของคนท้องถิ่นที่สามารถต่อสู้กับยักษ์ใหญ่จากส่วนกลางทั้งเดอะมอลล์ เทอร์มินอล 21 และเซ็นทรัลพล่าซ่า ได้อย่างภาคภูมิ ที่มาข่าว : มติชน ออนไลน์
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market