ดีเดย์วันที่ 20 ตุลาคม 2560 สรุปประชาพิจารณ์ฟังความคิดเห็นชาวโคราชเขตอำเภอเมือง ครั้งที่3 เรื่อง“ระบบรถราง LRT” ที่โรงแรมแคนทารี ล่าสุด “หมอโจ้”เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าโคราช เผย “ทำไมเมืองโคราชต้องมีระบบรถราง LRT และความจริงไม่มีระบบขนส่งมวลชนไหนที่ไม่มีผลกระทบ แต่จะพลิกชีวิตคนเมืองไม่ต้องขับรถไปรับ–ส่งลูกไปโรงเรียน และตอบโจทย์ฟื้นชีพธุรกิจค้าขายตัวเมืองชั้นในที่ตายแล้วให้กลับมา” หลังจาก สนข.ประชาพิจารณ์ 2 ครั้งระบบขนส่ง “รถรางเบา LRT” ในตัวเมืองโคราชมี 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ครั้งสุดท้ายแล้ว เตรียมเสนอให้ครม.อนุมัติงบประมาณการก่อสร้างงบประมาณไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท ลุยเฟสแรกสายสีเขียวและสีส้ม คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เคาะราคา 15-25 บาท และครั้งที่ 3 จะมีการประชาพิจารณ์เรื่อง “รถราง LRT” ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2560 เวลา 8.30-13.00 น. ที่ห้องลำตะคอง 1-2 ชั้น 3 โรงแรมแคนทารี สำหรับระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LIGHT RAIL TRANSIT) หรือ “รถราง LRT” คือระบบขนส่งสาธารณะที่ชาวโคราชส่วนใหญ่ เลือกว่าเหมาะสมที่สุด ในการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมืองนครราชสีมา โดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ให้งบประมาณ 43.7 ล้านบาท ว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการอย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งในเขตเมืองนครราชสีมา ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลากว่า 14 เดือน “ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธ์” อาจารย์มทส.ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ยันข่าวลือรถจอดข้างทางไม่ได้ ไม่จริงยังใช้ชีวิตทำธุรกิจได้ตามปกติ เส้นทางที่ รถไฟฟ้า LRT วิ่งผ่านสามารถจอดรถส่วนบุคคลได้ชั่วคราว โดยแต่ละช่วงที่เป็นสถานีจอดรถไฟฟ้า LRT เป็นพื้นที่ของหน่วยราชการ วัด หรืออื่นๆ ที่รบกวนประชาชนทั่วไปน้อยที่สุด ล่าสุดเล็งทดสอบวิ่งรถราง LRT เสมือนจริง รถรางตอบโจทย์คนเมืองโคราชหรือไม่ “นายกฯสุรวุฒิ เชิดชัย” โดย“เทศบาลนคร–หอการค้าฯ” ทำหนังสือถึง “มทส.และสนข.เตรียมทดสอบ “รถรางLRT” ให้ทดสอบวิ่งแบบเสมือนจริง โดยนำรถล้อยางมาวิ่ง พร้อมตีเส้นรางแบบทดสอบจริงจากถนนมุขมนตรีไปถนนโพธิ์กลาง ตามเส้นถนนและเวลาจริงประมาณ 30 วัน หากทดสอบแล้วได้ผลยังไงก็จะเป็นการพิสูจน์ว่า “รถรางLRT” ตอบโจทย์ขนส่งมวลชนสาธารณะเมืองโคราชจริงหรือไม่ โดยทำการทดสอบและจะได้รู้ว่าหากมี “รถรางLRT” มาวิ่งตามพื้นที่จริงจะเกิดปัญหากับหน้าร้านค้าที่รถรางวิ่งผ่านหรือไม่ และสามารถจอดรถข้างตึกได้หรือไม่ เพราะใช้เงินทดสอบให้รถรางวิ่งไม่มาก แต่หากทำรถรางแล้วใช้งบ 30,000 กว่าล้านบาท หากไม่ตอบโจทย์จะไม่คุ้มเสีย ด้านเภสัชกรจักรินเชิดฉายอดีตประธานหอการค้าจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “เรื่องระบบราง LRT นี้ทั่วโลกเขาใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนในเมืองกันมากที่สุด และมีการเสนอแนวคิดให้ทดลองวิ่งแบบเสมือนจริงเพื่อจะดูว่ามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการจราจรหรือไม่ ซึ่งตามความจริงไม่มีระบบขนส่งมวลชนไหนที่ไม่มีผลกระทบหรอก แต่กระแสข่าวที่ออกมาว่า รถราง LRT มีผลกระทบก็ต้องเรียนว่ามีการให้ข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความตื่นกลัวว่ามีผลกระทบเรื่องที่จะจอดรถไม่ได้ มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเดินทางสัญจรต่างๆในโคราช ซึ่งเป็นแนวทางที่ตนไม่เห็นด้วยเลย เพราะว่าจะสร้างความตื่นกลัวตื่นตระหนก จนเกินกว่าเหตุ และทุกสิ่งทุกอย่างมันมีทางออกเสมอ” “ต้องยอมรับความจริงว่าทุกระบบไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีผลข้างเคียง ถามว่าแนวทางเมื่อเราเลือกระบบสาธารณะทุกระบบจะบอกว่า แล้วให้การใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ยังสะดวกเหมือนเดิมทุกประการ แนวทางนั้นคงจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าจะมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เพราะไม่ตอบโจทย์ของการนำระบบขนส่งมาใช้แทนรถยนต์” “ปัญหาที่ตนมองก็คือ การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมีปัญหาว่า พื้นผิวการจราจรไม่พอ เราถึงจะต้องมารณรงค์ให้มาใช้ระบบสาธารณะด้วยกัน เพราะฉะนั้นอาจจะมีผลกระทบบางส่วนบ้าง แต่มันแลกกับสิ่งที่จะได้มามันคุ้มค่า เรื่องของที่จอดรถ คือบางคนมีสถานที่สำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นตลาด ตรงนั้นจะได้ประโยชน์มากเพราะว่า ลูกค้าไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อจะไป แค่นั่งรถรางมาถึงที่ คิดง่ายๆถ้าเอารถยนต์ส่วนตัวมาก็หาที่จอดยาก เปลี่ยนตัวเองมาใช้บริการรถรางสาธารณะดูจะทำให้เราสะดวกขึ้นกว่าขับรถไปเอง เพราะฉะนั้นระบบสาธารณะถึงจำเป็นและสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว แหล่งค้าขายในปัจจุบันได้อย่างดี” เภสัชกรจักริน กล่าวต่อว่า “อย่างต่างประเทศส่วนใหญ่ที่มีการศึกษาก็เลือกระบบนี้มาใช้มี 2 ส่วน คือวิ่งรอบนอก ซึ่งถนนหลักจะวิ่งมาในเมือง แนวทางของเราที่เขาเลือก รถรางLRT มาคือเรื่องแรก ให้วิ่งมาในเมืองชั้นในเพื่อมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่มันใกล้ล่มสลายไปแล้วให้มีโอกาสฟื้นฟู ไม่ใช่ว่ามีตัวนี้แล้วคือได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่มันจะมีโอกาสสร้างเศรษฐกิจภายในตัวเมือง ที่วันนี้การค้าขายเงียบเหงาแทบจะล่มสลาย อาจจะมีโอกาสกลับคืนมาเฟื่องฟูอีกครั้ง” “และที่จำเป็นถ้ามีรถราง เรื่องของรถผู้ปกครองที่จะไปรับเด็กนักเรียน แต่มีบางคนบอกว่าหากมีรถรางจะไปรับลูกและจอดรถยังไง แทนที่จะมองว่าต่อไปคุณไม่ต้องเอารถไปรับรถรางจะไปทำหน้าที่แทน ตัวเราเองก็ปลอดภัยด้วย หรืออาจจะนั่งแล้วไปรับลูกที่นั่นหรือให้บุตรหลานนั่งรถรางมา แล้วนัดในจุดจอดรถที่เราจะมาเจอกัน เพราะว่าวันนี้ถ้าทุกคนเอารถส่วนตัวไป ก็จะมีปัญหาการจราจรติดขัดเรื่องนี้ต่างหากที่เป็นปัญหาหากมองคนละมุม” เภสัชกรจักริน กล่าวอีกว่า “ส่วนที่มีคนเสนอขอเอาระบบรถรางLRT มาทดลองเสมือนจริงเส้นหลักในตัวเมืองโคราชวิ่งตามเส้นทางจริง ซึ่งตามความจริงจะทดลองยังไงก็ไม่เหมือนกัน เพราะมิติการใช้ระบบสาธารณะ อันดับแรกไม่ว่าระบบไหนรัฐบาลกลางควรเป็นผู้ลงทุน เพราะทุกระบบแม้แต่รถไฟความเร็วสูง หรือรถรางก็ตามทุกจังหวัดจะขาดทุนเกือบทั้งนั้น ไม่เฉพาะที่โคราช” “สำหรับอีกกรณีมันไม่ใช่แก้ปัญหามิติเดียว ปัญหาไม่ใช่แก้จราจรแต่เป็นเรื่องขนส่งมวลชนเท่านั้น เรามองถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในเขตเมืองเดิม ปัญหาช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ปัญหาเรื่องมลภาวะ ซึ่งตอนนี้มันเป็นรถไฟฟ้า หลายๆอย่างที่เราต้องมองร่วมกัน เพราะฉะนั้นที่จะมาทดลองวิ่งชั่วคราวมันไม่สามารถตอบโจทย์เหตุการณ์ที่เป็นจริงได้ทั้งหมด และไม่สามารถจัดภาพของเหตุการณ์จำลองจริงๆได้ทั้งหมดอีกด้วย เพราะถ้าหากจะเอารถรางมาใช้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ที่เห็นประโยขน์ของรถราง” “สมมุติว่าถ้ามีใครเลือกระบบหนึ่งขึ้นมาศึกษาเช่น รถเมล์ลอยฟ้า ถามตรงๆสามารถจำลองเหตุการณ์ทดสอบได้หรือไม่ และจะได้เหมือนจริงหรือไม่ ประเด็นหลักก็คือ ทุกคนต้องเชื่อเรื่องการศึกษาเบื้องต้นว่าระบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะและเพราะอะไร ถึงวันนี้เมืองโคราชไม่ได้มีแค่รถราง มีมอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ แล้วเขาถูกกำหนดว่ารถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ จะมีจุดจอดที่สถานีหัวรถไฟ เพราะฉะนั้นสำคัญที่สุดเลยคือ จะต้องมีตัวเชื่อมเป็นฟีดของรถราง” เภสัชกรจักรินกล่าวอีกว่า “กรณีเส้นรถรางต้องวิ่งผ่านถนนมุขมนตรีมาถนนโพธิ์กลางถึงลานคุณย่าโม ตนมองว่าที่เขาจะทำเป็นสถานีหลักที่บริเวณหน้าย่าโม จะมี 2 สายคือสายสีเขียว กับสายสีส้ม ที่จะมาตัดกันตรงนั้น จะเชื่อมให้นักท่องเที่ยวถ้ามาไหว้คุณย่าโม ถ้าทางเทศบาลให้พื้นที่ลานคุณย่าตั้งแต่ศาลากลางมาจนถึงสวนอนุสรณ์สถานอาคารชุณหวัน เป็นจุดท่องเที่ยว จุดถ่ายรูป และในเขตเมืองชั้นในมีแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น นั่งท่องเที่ยวที่ต่างๆได้มาไหว้คุณย่าโม นั่งรถรางเที่ยวในเมือง จะทำให้เศรษฐกิจในเมืองมีโอกาสที่จะฟิ้นตัวขึ้นมาบ้างในระดับหนึ่ง” “ลองมาช่วยกันคิดว่าทุกวันนี้ ราคาที่ดินในตัวเมืองโคราชชั้นในถูกว่าแถวโซนจอหอและเคหะแล้ว เพราะค้าขายไม่ได้ มีย่านธุรกิจหรือไม่ แต่ถ้าหากมีรถรางมาวิ่งในเขตเมืองทุกจุดสามารถเข้าถึงรถรางได้ประมาณ 300-400 เมตร มี 2 เส้นไป–กลับ เพราะฉะนั้นการสร้างย่านเศรษฐกิจใหม่เป็นหน้าที่ท้องถิ่นที่จะมาพัฒนาต่อ ส่วนเรื่องผลกระทบที่จอดรถอาจจะมีบ้างเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งสาธารณะ เพราะเกือบทุกเมืองในประเทศไทยก็เลือกระบบราง เพราะมันได้หลายๆมิติ ไม่ใช่แก้ปัญหาเรื่องจราจรเท่านั้น” “เพราะฉะนั้นทุกระบบขนส่งจะเป็นคู่แข่งกันเสมอ แต่ระบบในเมืองถ้าบอกว่ามันดีและถนนครบแล้ว เค้าก็ไม่มาใช้ระบบสาธารณะหรอก แต่ทุกเมืองทั่วโลกที่มาใช้ระบบสาธารณะเพราะวันนี้ระบบรถยนต์ส่วนตัวมันไม่เพียงพอ ถนนไม่เพียงพอที่จะมารองรับ เพราะฉะนั้นเราเองทุกคนจะต้องมุ่งหวังว่า ควรเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบสาธารณะแทนรถได้แล้ว ถ้าหากว่าวันหนึ่งเราใช้จนเคยชินเราก็จะรู้ว่ามีประโยชน์จริงๆ” เภสัชกรจักริน กล่าวทิ้งท้าย
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market