วันนี้ (30 พ.ค.) ศาสตราจารย์ ดร. ประสาท สืบค้า อธิการบดีหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่ทิ้งขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 29 แห่ง จากการที่เทศบาลนครนครราชสีมาได้หยุดรับกำจัดขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากบ่อฝังกลบมีปริมาณขยะ 4.4 แสนตัน เต็มพื้นที่รองรับ ไม่สามารถรับขยะเพิ่มเติมได้อีกนั้น มีข้อสรุปร่วมกันแล้ว โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 แห่ง คือ เทศบาลเมือง (ทม.) ปักธงชัย อ.ปักธงชัย เทศบาลตำบล (ทต.) ด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด และเทศบาลตำบลแชะ อ.ครบุรี ซึ่งเป็น 3 ใน 4 อปท.ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง ระบบการจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงและปุ๋ยอินทรีย์ จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน จะแบ่งมารับบริหารจัดการให้กับ 15 อปท. จาก 29 อปท.ที่ประสบปัญหา ปริมาณขยะรวม 75.4 ตัน/วัน จากปริมาณขยะรวม 130 ตัน/วัน ที่ยังหาทางออกไม่ได้ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 แห่ง รับผิดชอบบริหารจัดการขยะ 4 จุด ดังนี้ จุดรับขยะที่ 1 เทศบาลเมืองปัก มี อปท.ที่นำขยะมากำจัดกับเทศบาลเมืองปักจำนวน 5 แห่ง รวม 24.5 ตัน/วัน ประกอบด้วย (1) ทต.ไชยมงคล อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 6 ตัน (2) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนองจะบก อ.เมือง ปริมาณขยะ 7 ตัน (3) อบต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย ปริมาณขยะ 2 ตัน (4) อบต.พระพุทธ อ.เฉลิมพระเกียรติ ปริมาณขยะ 1.5 ตัน และ (5) ทต.เมืองใหม่โคกกรวด ปริมาณขยะ 8 ตัน จุดรับขยะที่ 2 เทศบาลตำบลแชะ อ.ครบุรี มี อปท.นำขยะมากำจัดกับ ทต.แชะ จำนวน 5 แห่ง รวม 19.9 ตัน/วัน ประกอบด้วย (1) ทต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 3.6 ตัน (2) อบต.มะเริง อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 4 ตัน (3) ทต.จักราช อ.จักราช ปริมาณขยะ 2.3 ตัน (4) ทต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย ปริมาณขยะ 5 ตัน (5) ทต.ด่านเกวียน อ.โชคชัย ปริมาณขยะ 5 ตัน จุดรับขยะที่ 3 เทศบาลตำบลด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด มี อปท.นำขยะมากำจัดกับ ทต.ด่านขุนทด จำนวน 4 แห่ง รวม 16.0 ตัน/วัน ประกอบด้วย (1) อบต.สีมุม อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 2 ตัน (2) ทต.พุดซา ปริมาณขยะ 3 ตัน (3) อบต.หมื่นไว อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 9.5 ตัน (4) ทต.พันดุง อ.ขามทะเลสอ ปริมาณขยะ 1.5 ตัน จุดรับขยะที่ 4 โรงกำจัดขยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) มี อปท.นำขยะมากำจัดกับ มทส. จำนวน 1 แห่ง รวม 15 ตัน/วัน คือ ทต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ปริมาณขยะ 15 ตัน ซึ่งปริมาณขยะที่เหลือ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่ 3 เทศบาลนครนครราชสีมา จะรับดำเนินการไปพลางก่อน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย อาจหาญ ผู้อำนวยการเทคโนธานี และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดการขยะแบบครบวงจร กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 แห่ง ในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเป็นการนำนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไปแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยนวัตกรรมดังกล่าว คือ ระบบการจัดการขยะมูลฝอยด้วยวิธีทางกลและชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT-MBT) ซึ่งเป็นหนึ่งในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ในปี 2559 รหัส 140002(1)-(11) ตามนโยบายการสนับสนุนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการของไทยในตลาดภาครัฐ และเป็นกระบวนการที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 14001:2015 โดยสรุป ระบบการจัดการขยะมูลฝอยประกอบไปด้วย 3 ส่วน และมีหลักการทำงาน ดังนี้ (1) ส่วนหน้า (front-end) ขยะชุมชนจะถูกนำมาบำบัดขั้นต้นด้วยกระบวนการทางกล (mechanical pre-treatment) โดยขยะมูลฝอยจะผ่านการคัดแยกเบื้องต้นเพื่อแยกเอาขยะรีไซเคิล (recyclables) และขยะอันตราย (hazardous waste) ออก แล้วนำขยะทั้งหมดไปสับย่อยลดขนาดโดยใช้เครื่องสับ (shredder) เพื่อให้พร้อมสำหรับการย่อยสลาย (2) ส่วนหมัก (composting) ขยะที่ผ่านการสับย่อยลดชนาดแล้วจะถูกป้อนเข้าสู่การปรับเสถียรภาพของขยะ โดยใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพ หรือเรียกว่ากระบวนการหมัก ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม (ความชื้น อุณหภูมิ) ทำให้สามารถควบคุมกลิ่นได้ และยังส่งผลให้ความชื้นลดลงอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา 7-15 วัน และ (3) ส่วนหลัง (back-end) หรือส่วนผลิตเชื้อเพลิงขยะ โดยขยะมูลฝอยที่ผ่านการปรับเสถียรภาพโดยการหมัก แล้วจะถูกนำมาผ่านกระบวนการร่อนคัดแยกทางกล (mechanical separation) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงขยะและปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป โดยความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเป็นผู้รับดำเนินการ บริหารจัดการระบบบำบัดขยะเชิงกลชีวภาพ (Mechanical and Biological Treatment : MBT) ทั้งหมด 3 จุด คือ ทม.เมืองปัก ทต.ด่านขุนทด และ ทต.แชะ ครอบคลุมการจัดหาแรงงานและเครื่องจักร การบำรุงรักษาเครื่องจักรให้พร้อมใช้งานที่ไม่ทำให้มีขยะตกค้างแต่ละวัน รวมถึงบริหารจัดการผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากการกำจัดขยะ และ/หรือผลผลิตอื่นที่เกิดขึ้น เพื่อก่อให้เกิดรายได้ ให้สมดุลกับรายจ่ายในเดินระบบ โดยเบื้องต้นจะนำผลพลอยได้ คือเชื้อเพลิงขยะไปจำหน่ายให้กับโรงงานปูนซิเมนต์ ที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินต่อไป ในส่วนของ 3 อปท.เจ้าของพื้นที่จะได้รับค่ากำจัดในรูปแบบของเงินอุทิศจาก 15 อปท.ที่นำขยะมากำจัดในอัตรา 300 บาท/ตัน ซึ่งเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้าและประปาได้ โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมมือ พัฒนาองค์ความรู้ และ ส่งเสริมมาตรการ 3Rs “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” และจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์ลด คัดแยก และนำขยะกลับมาใช้ใหม่ตามหลัก 3Rs คือ Reduce (ลดการใช้) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การนำกลับมาใช้ใหม่) โดยเริ่มจากการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง แหล่งกำเนิดขยะ (บ้านเรือน อาคาร สำนักงาน สถานประกอบการ) เพื่อให้เหลือไปกำจัดที่ปลายทางน้อยที่สุดอันเป็นแนวทางการบริหารจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไป รวมถึงร่วมมือผลักดันให้เกิดระบบการกำจัดขยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และร่วมประชาสัมพันธ์แก่ชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและพัฒนาเป็น ต้นแบบโคราชเมืองสะอาด เป็นลำดับต่อไป
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market