โคราชเสียงแตก! รถไฟทางคู่ผ่านเมืองโคราช จบไม่ลง ล่าสุด “หมอโจ้” นำกลุ่มโคราชเพื่อโคราช บุกศาลากลางยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯ ถึงนายกฯประยุทธ์-รมว.และช่วยคมนาคม เสนอ 3 ทางเลือกใหม่ ด้านผู้ว่าโคราช เตรียมเรียกประชุมครั้งสุดท้าย ลั่นต้องเหลือทางเลือกเดียวก่อนเสนอรมว.คมนาคม ให้เวลาสรุปใน 1 เดือน ด้าน “สุรวุฒิ” ยืนยันรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองโคราชต้องทุบ 2 สะพานทั้ง “สีมาธานี-หัวทะเล” เท่านั้น เพราะจะมีปัญหาระยะยาวเมืองตันขยายไม่ได้ และแบ่งโคราชเป็น 2 ฝั่ง หลังจากบริษัทที่ปรึกษา รฟท.อ้างวิจัยแล้วจะไม่ทุบสะพานสีมาธานี จะทำให้รถติดมโหฬารนานถึง 30 เดือน เซฟงบได้อีก 1,300 กว่าล้าน เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2562 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เภสัชกรจักริน เชิดฉาย แกนนำกลุ่มโคราชเพื่อโคราช พร้อมด้วย นายอรชัย ปุณณะนิธิ อดีตประธานหอการค้าฯ และชาวชุมชน เข้าพบ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือ 3 ฉบับถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องการสร้างทางรถไฟยกระดับช่วงผ่านเทศบาลนครนครราชสีมา เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าฯ แกนนำกลุ่มโคราชเพื่อโคราช กล่าวว่า “สิ่งที่ทางกลุ่มโคราชเพื่อโคราช ต้องการเสนอรัฐบาล เพื่อให้ได้สิ่งที่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองโคราช เนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสานในช่วงผ่านเมืองนครราชสีมา ไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะช่วงผ่านสะพานสีมาธานี แม้คณะที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวทางสรุปว่า ให้ลอดสะพานสีมาธานี แล้วจึงยกระดับขึ้น” “กลุ่มโคราชเพื่อโคราช เป็นกลุ่มจัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะอาสาพัฒนาเมืองโคราช ได้ติดตามศึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โดยเฉพาะช่วงผ่านเมืองนครราชสีมาด้วยความห่วงใย จึงขอเรียนสรุปข้อเสนอ ดังต่อไปนี้ 1.เสนอรัฐบาลออกแบบทางรถไฟยกระดับข้ามผ่านสะพานสีมาธานีและสะพานหัวทะเล แล้วค่อยลงสู่ระดับพื้นดิน เป็นแนวทางที่จะตอบโจทย์ให้คนโคราชมากที่สุด” “2.รถไฟวิ่งลอดสะพานสีมาธานี จากนั้นค่อยยกระดับ ตามแบบที่ทางที่ปรึกษาได้นำเสนอ และ 3.กรณีที่มีการเสนอให้ทุบสะพานสีมาธานีนั้น “กลุ่มโคราชเพื่อโคราช” มีความห่วงใยว่า จะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตแก่คนโคราชอย่างไรหรือไม่ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นว่า จำเป็นต้องทุบสะพาน ก็สามารถจำลองสถานการณ์ได้ โดยทดลองปิดการใช้สะพานสีมาธานีสัก 3 เดือน เพื่อให้ลองดูว่า เรามีเส้นทางเลี่ยงหรือไม่ และคนโคราชรับได้หรือไม่” “ทั้ง 3 แนวทางที่นำเสนอนี้ เพื่อเป็นการร่วมหาทางออกที่ดีที่สุด โดยต้องไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และยึดประโยชน์คนส่วนใหญ่เป็นหลักเท่านั้น และทางกลุ่มได้เชิญเทศบาลนครฯมาวันนี้ด้วย แต่ไม่มาโดยไม่ทราบเหตุผล” เภสัชกรจักริน กล่าว นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการ จ.นครราชสีมา กล่าวว่า “วันนี้มีกลุ่มโคราชเพื่อโคราช นำเสนอ 3 แนวทางมา ซึ่งการเสนอแนวทางต่างๆของหลายด้านก็จะเป็นเรื่องดีที่จะหาข้อสรุปเพื่อเป็นประโยชน์กับชาวโคราชมากที่สุด ซึ่งทางรมว.คมนาคมก็ขอให้ทางโคราชสรุปอย่างชัดเจนว่าต้องการแนวทางไหน” “รมว.คมนาคม ขอให้เร่งสรุปให้เร็วที่สุดภายใน 1 เดือน โดยทางจังหวัดจะรีบเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมนัดส่วนกลางทั้งทางการรถไฟ สนข. และบริษัทที่ปรึกษาฯรฟท. พร้อมเชิญชาวโคราชมาร่วมกันหาข้อสรุปเรื่องทางรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมือง น่าจะเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นอันเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องทุบหรือไม่ทุบสะพานสีมาธานี ดีหรือไม่ดีต่ออนาคตของชาวโคราช รอบด้านเอาข้อมูลมาพูดคุยกันเพราะต้องยุติเรื่องนี้ให้ได้” “จังหวัดจะเป็นตัวกลางเพื่อเรียกทุกภาคส่วนมาประชุมหาข้อสรุปให้ได้ และต้องได้คำตอบที่ชัดเจน ล่าช้าไม่ได้เพราะท่านรมว.คมนาคมให้เวลาสรุปภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขอให้ทุกท่านมาร่วมประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายเพราะเวลาบังคับแล้ว ไม่เช่นนั้นทางการรถไฟเขาก็จะทำตามที่วางไว้ เราจะแก้ไขไม่ได้” ผู้ว่าฯวิเชียร กล่าว ด้าน นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนคร นครราชสีมา เปิดเผยว่า “เรื่องรถไฟทางคู่ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช สิ่งที่เกิดขึ้นก็มี 2 ส่วน ในส่วนของเมืองโคราช รถไฟทางคู่ยกระดับ และมีการทำแบบปรับปรุง ซึ่งส่วนนี้พี่น้องชาวโคราชที่มองคือ การที่รถไฟยกระดับเราเห็นว่าเป็นความจำเป็นในเขตเมืองอย่างแน่นอน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ในที่ต่างๆที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นที่ อ.บัวใหญ่ จุดที่ทำอุโมงค์ไปแล้ว เรื่องของน้ำท่วมในอุโมงค์ หรือที่ใกล้ตัวที่สุดคือ หลังวัดทุ่งสว่าง ตอนนี้พระก็ข้ามไปบิณฑบาตยากขึ้น ตนมองว่าสิ่งเหล่านี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ว่า ทำไมเราถึงอยากเห็นรถไฟทางคู่ยกระดับในเขตตัวเมือง” “ดังนั้นวันนี้ ค่อนข้างเห็นภาพชัดเจน ตอนนี้สิ่งที่มองอยู่คือ หางทางรถไฟลอดใต้ทางยกระดับสามแยกปักฯขึ้นมา ผ่านซอยมอญมาหน้าโรงแรมสีมาธานี คือทุบสะพานแล้วข้ามฟากยกระดับยาวไปเลย เพราะจากรูปแบบของการรถไฟที่นำเสนอว่า ถ้าไม่ทุบสะพานสีมาฯ แล้วมาพูดคุยกันก็ยิ่งเห็นปัญหาว่า จะทำให้ถนนสืบศิริมีปัญหาต้องปิดผ่านไม่ได้ ปิดแล้วต้องไปยูเทิร์นก็จะยาก สิ่งที่อยากเห็นคือจากแยกสีมาธานี ยกระดับมา 5 แยกหัวรถไฟหรือนิ้งหน่อง ข้ามฟากไปจนถึงสะพานหัวทะเล แล้วค่อยลดระดับ หมายถึงทุบสะพานหัวทะเลด้วย” นายสุรวุฒิ กล่าวอีกว่า “แต่หากทุบสะพานหัวทะเลแล้วจะมีข้อแตกต่างจากการทุบสะพานสีมาธานี คือ สะพานหัวทะเลทุบแล้วไม่ต้องทำอะไรเลย พอเรายกข้ามหัวทะเล ทุบสะพานหัวทะเลจบเลย เพราะถนนมีอยู่แล้ว การยูเทิร์นรถขนาดใหญ่ พอข้ามไปยูเทิร์นตรงแยกไปจักราชได้ จากเขตเมือง ข้ามฟากไปหัวทะเล ถนนเส้นที่ข้ามฟากไปบ่อบำบัด ก็สามารถติดไฟเขียว-ไฟแดงได้ รถขนาดใหญ่ไม่ต้องลอดใต้สะพาน รถที่มาเลี้ยวเข้าออกต่อไปก็จะไม่มีทางแคบแล้วสะพานหัวทะเลทุบแล้วจบนี่คือเหตุผล” “สำหรับสะพานสีมาธานี ทุบแล้วใหม่ๆจะต้องติดตั้งไฟเขียวไฟแดง ในอนาคตก็ต้องทำอุโมงค์ทางลอด แล้วโครงสร้างสีมาธานีก็จะจบ เช่น เรามาจากโรงแรมแคนทารี เรายูเทิร์นไปห้างเดอะมอลล์ได้เลย หรือมาจากสามแยกปักฯเข้าเมือง ก็ใช้อุโมงค์ลอดยาวเลย ซึ่ง 4 แยกอัมพวันก็จะกลับมาคืน และถ้ามี 4 แยกอัมพวันแล้ว ก็จะมี 4 แยกหมู่บ้านประกอบหรือแยกถนนเลียบนคร ก็จะกลายเป็น 4 แยก 2 ชุด แล้วอุโมงค์ที่ทอดยาวไป โครงสร้างการจราจรก็จะไม่ติดอีกด้วย” “ตนมั่นใจว่าในแง่ของโครงสร้างวิศวกรรม และคุณภาพชีวิต การที่รถไฟยกระดับในเขตเมือง เราจะเปลี่ยนโครงสร้างเมืองง่ายขึ้น การเชื่อมโยงระหว่างเหนือ ใต้สะดวกขึ้น จากกรณีที่บอกว่าหากมีการทุบสะพานสีมาธานี แล้วมีปัญหาแน่ ตนมองว่า ถ้าเราจะมีรถไฟทางคู่ สะพานสีมาธานีจะเป็นปัญหาสำหรับรถไฟทางคู่ ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรเลย สะพานสีมาก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ต้องมองดีๆว่า สมมติว่าเรายกระดับหรือไม่ยกระดับ ถ้าเราไม่เอาสะพานสีมาธานีออก การยกระดับเรื่องรถไฟรางคู่ ข้ามไปสืบศิริ หน้าตามันก็จะไม่ตรงไปตรงมา” นายสุรวุฒิ กล่าวต่อว่า “ถามว่าทำไมเราถึงคิดว่า การทุบสะพานสีมาธานีจะเป็นประโยชน์ ในระยะยาว อย่างแรกแยกสีมาธานีเราสามารถเจาะอุโมงค์ได้ และถนนสืบศิริ เราสามารถขยายเลนการจราจรได้ ส่วนตรงหมู่บ้านประกอบ หรือ ตรงซอย รร.สมบูรณ์ พอยกระดับ ซอยตรงนี้สามารถทำให้รถสวน 4 เลนได้ขยายถนนได้ ซอยทางมอญก็จะขยายได้ ตนมองว่าหากรถไฟทางคู่ยกระดับแล้ว จะเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง ทำให้การเชื่อมโยงระหว่างเหนือใต้” “สมมติต่อว่า พอยกระดับไปแล้ว หลังสวนภูมิรักษ์ก็ขยายถนนได้ ข้างจวนผู้ว่าฯ หรือวัดหนองบัวรอง ซึ่งตอนนี้เป็นซอยขนาดเล็ก ซึ่งข้ามฝากไปหนองไผ่ล้อม ถ้ายกระดับแล้วก็สามารถขยายไปหนองไผ่ล้อมได้เลย และห้าแยกหัวรถไฟ ทำถนนเพิ่มอีกเส้นสวนได้ ไปออกข้าง จวนผู้ว่าฯก็ได้ คือ รถไฟทางคู่ยกระดับ ยกแล้วเมืองมันเปลี่ยน เพราะใต้สะพานสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ โคราชโชคดีที่ยังไม่มีการก่อสร้างทางรถไฟ ทำให้เสนอทางออกได้เพื่ออนาคตของเมืองโคราชอย่างแท้จริง” นายสุรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market