นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า จากนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการรองรับโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง โครงการรถไฟทางคู่ ในบริเวณที่มีปัญหาการจราจรติดขัด และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมด้านอำนวยความปลอดภัยในการแก้ไขปัญหาจุดอันตรายบริเวณจุดตัดระหว่างถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กับทางรถไฟ ทั้งนี้ เพื่อให้การเดินทางผ่านจุดตัดดังกล่าวมีความปลอดภัย สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากการสัญจรข้ามทางรถไฟ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในการเดินทาง จึงได้ก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ บริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนทางหลวงชนบทสาย นม.1001 ตั้งอยู่ระหว่างอำเภอบัวใหญ่และอำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา โดยมีความยาวรวมประมาณ 1,380 เมตร แบ่งเป็น อุโมงค์ ยาว 830 เมตร โครงสร้างของอุโมงค์เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก และถนนต่อเชื่อมกับถนนเดิม อุโมงค์กว้าง 11 เมตร รองรับ 2 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีแผงคอนกรีตตรงกลางสำหรับแบ่งทิศทางการจราจร รวมทั้งมีแผงกั้นเหล็กแบบล้อเลื่อน จำนวน 2 แห่ง สำหรับเบี่ยงการจราจรในกรณีฉุกเฉินมีหลังคาบริเวณช่องลอดทางรถไฟยาว 130 เมตร ภายในอุโมงค์มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สามารถปรับความสว่างได้ตามสภาพแสงระหว่างวัน เพื่อให้ผู้ขับขี่มีทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่ พร้อมทั้งมีระบบระบายน้ำและเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง เพื่อป้องกันน้ำท่วมภายในอุโมงค์ ตลอดจนระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือเหตุฉุกเฉินที่สามารถส่งสัญญาณเตือนไปยังป้ายไฟบริเวณก่อนถึงอุโมงค์และแจ้งเตือนผ่านระบบควบคุมระยะไกล เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ ทช.ได้รับทราบเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ทันท่วงทีต่อไป นอกจากนี้ ทช.ยังได้นำนวัตกรรมมาปรับใช้ในการก่อสร้างอุโมงค์ช่วงลอดทางรถไฟโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถไฟ ด้วยการติดตั้งโครงสร้างเหล็กชั่วคราวเพื่อรองรับรางรถไฟในระหว่างการก่อสร้างแทนการเบี่ยงทางรถไฟ จึงไม่ต้องก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟและระบบอาณัติสัญญาณใหม่เป็นระยะทางยาว ทั้งนี้ เพื่อลดความยุ่งยาก ลดงบประมาณในการก่อสร้าง และช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถไฟอีกด้วย ปัจจุบัน ทช. ได้ดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวแล้วเสร็จ และคาดว่าจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้สัญจรในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 331 ล้านบาท แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ