จังหวัดนครราชสีมา ประชุมพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมือง เพื่อยืนยันรูปแบบ “รถไฟฟ้ารางเบา LRT” สรุปส่งไปยังรัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง หลังจากในพื้นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน “หมอโจ้” อดีตประธานหอการโคราช ลั่นมีคนพยายามล้มโครงการ “รถไฟฟ้ารางเบา LRT” ให้เป็น “รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT” ด้านนายกฯสุรวุฒิ เสนอให้ทดสอบวิ่งตามเส้นทางเสมือนจริงจะได้เห็นว่า LRT เป็นระบบที่ดีที่สุดสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2561 ที่โรงแรมสีมาธานี นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมสัมมนาพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตเมืองนครราชสีมา โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วมพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาจราจร ใน 3 ประเด็นคือ กรณีผลการศึกษาวิจัยแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในภาพรวมของเมืองนครราชสีมา โดยมี ศ.ดร.สุขสันต์ หอพิบูลสุข หัวหน้าโครงการ เป็นผู้ให้ข้อมูล พร้อมด้วยนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา, นายกิติพงศ์พงศ์สุรเวทรองประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นหัวข้อดังกล่าว ซึ่งประเด็นระบบขนส่งมวลชนเมืองนครราชสีมา ได้รับความสนใจจากประชาชนในเขตเทศบาลเข้ารับฟังแนวทาง และแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย อาทิ เภสัชกรจักริน เชิกฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ อดีตเลขาธิการหอการค้าภาคอีสาน นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ศ.ดร.สุขสันต์ หอพิบูลสุข หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการศึกษาว่า “ขณะนี้ได้สรุปผลการศึกษาส่งไปยัง สนข. และกระทรวงคมนาคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจังหวัดนครราชสีมา ได้สรุปเลือกระบบรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT เป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองนครราชสีมา อีกทั้งรูปแบบดังกล่าว ผู้ทำการศึกษาได้พิจารณาในเรื่องของระบบการเชื่อมต่อ และการพัฒนาเขตเมืองเก่า พบว่า รถไฟฟ้ารางเบา สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่าระบบอื่น” “เบื้องต้นได้กำหนดเส้นทางไว้ 3 เส้นทาง คือ เส้นทางสายสีเขียว สายสีส้ม จะผ่านเขตเมืองเก่า พื้นที่โดยรอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และสายสีม่วง จะผ่านเส้นทางพื้นที่ธุรกิจใหม่ ตามถนนมิตรภาพ ผ่านห้างสรรพสินค้าต่างๆ พร้อมกันนี้ได้ออกแบบส่วนต่อขยายเส้นทางทั้ง 3 เส้นทางไว้อีกด้วย รวมระยะทาง 50.09 กิโลเมตร มี 75 สถานี” “สำหรับการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สายสีเขียวและส้ม ก่อสร้างปี 2563-2565 ระยะที่ 2 สายสีม่วง ก่อสร้างปี 2566-2568 และระยะที่ 3 ส่วนต่อขยาย ก่อสร้างปี 2569-2571 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 32,600 ล้านบาท” ศ.ดร.สุขสันต์ กล่าว ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้เรียกร้องให้ผู้ทำการศึกษาสร้างแบบจำลองรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT แล้วนำมาทดลองวิ่งตามเส้นทางนำร่อง เพื่อให้ประชาชนในเขตเมืองนครราชสีมา ได้เห็นว่า LRT เป็นระบบที่ดีที่สุด สามารถแก้ปัญหาจราจรได้ ขณะที่ เภสัชกรจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งให้การสนับสนุน รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT มาตั้งแต่ต้น กล่าวว่า “ที่ผ่านมามีการศึกษาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหลายครั้ง โดยครั้งแรกเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นเจ้าภาพทำการศึกษาสรุปเลือก “รถโดยสารด่วนพิเศษ หรือ BRT” ครั้งนั้นเทศบาลถูกมองว่ามีการตั้งธงไว้ก่อนแล้ว ต่อมาทาง สนข.กระทรวงคมนาคม ลงมาทำการศึกษาโดยให้งบประมาณแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ทำการศึกษาผลสรุปคือ รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT” “ขณะนี้มีบุคคลบางกลุ่มพยายามล้มโครงการรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ทั้งที่ สนข.ได้สนับสนุนงบประมาณมาศึกษาจนสรุปผลการศึกษาแล้ว หากมีการล้มโครงการนี้จริง โคราชจะขาดโอกาสการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และสิ้นเปลืองงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนโดยเปล่าประโยชน์” ทางด้าน นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงท้ายการเสวนา ตอนหนึ่งว่า “การพูดคุยในวันนี้ เพื่อต้องการข้อสรุปว่าจังหวัดนครราชสีมา จะเลือกระบบรถไฟฟ้ารางเบาหรือLRT ใช่หรือไม่ เพื่อนำเสนอยืนยันไปยัง สนข. และกระทรวงคมนาคม ส่วนเรื่องงบประมาณก็ต้องไปดูนโยบายของรัฐบาลว่า จะเป็นลงทุนเอง หรือให้ภาคเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP” “ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอขอนายกฯสุรวุฒิ ที่ต้องการให้มีการสร้างแบบจำลองรถไฟฟ้ารางเบาหรือ LRT แล้วนำมาทดลองวิ่งตามเส้นทางนำร่อง เพื่อให้ประชาชนในเขตเมืองนครราชสีมา ได้เห็นว่า LRT เป็นระบบที่ดีที่สุด สามารถแก้ปัญหาจราจรได้”
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market