ต้องยอมรับว่ากระแสของงานการตลาดเพื่อสังคมนั้น กำลังเป็นแนวคิดสำคัญของยุคนี้ ที่บริษัทและองค์กรต่างๆ ล้วนให้ความสำคัญ โฆษณาเพื่อสังคม ในความหมายที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นเรื่องของการทำโฆษณาเพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ในรูปแบบที่ตัวชิ้นงานโฆษณานั้นสามารถเกิดประโยชน์กับสังคมไปพร้อมๆ กัน งานชิ้นแรกมาจากประเทศออสเตรเลีย … เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ทวีปออสเตรเลียนั้นล้อมรอบด้วยชายฝั่งทะเลยาวไกลกว่าสามหมื่นสี่พันกิโลเมตร มีคลื่นลมเหมาะแก่การเล่นน้ำ รวมทั้งเล่นกีฬาทางน้ำชนิดต่างๆ ทว่ารายรอบแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์สุดๆ นั้น มันก็มีสัตว์อันตรายคือปลาฉลาม มาอาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศ เป็นฉลามพันธ์ดุที่มักมาทำร้ายคนอยู่เป็นประจำ จนทำให้ออสเตรเลียเป็นพื้นที่ที่คนโดนฉลามทำร้ายมากที่สุดในโลก กลางปี 2014 บริษัท Shark Mitigation Systems ก็ได้คิดโครงการร่วมกับ Optus Company บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม สองบริษัทนี้เขามาร่วมกันสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับปลาฉลาม ด้วยการสร้างทุ่นลอยน้ำอัจฉริยะ Clever Buoy ซึ่งสามารถส่งสัญญาณโซนาร์ลงไปใต้ท้องน้ำเพื่อหาวัตถุต่างๆ ในท้องทะเล และสื่อสารกับศูนย์ควบคุมด้วยระบบดาวเทียม อันทันสมัยของ Optus ลองอธิบายการทำงานง่ายๆ เจ้าทุ่นอัจฉริยะ Clever Buoy นี้สามารถตรวจหาฉลามและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ยามฝั่ง หากมีฉลามเคลื่อนที่เข้ามาใกล้ชายฝั่ง โดยทุ่นนี้จะส่งข้อมูล และการวิเคราะห์คลื่นโซนาร์ ด้วยซอฟต์แวร์ซึ่งจะทำหน้าที่จดจำลักษณะของฉลามพันธุ์ต่างๆ และเมื่อทุ่นนี้จับสัญญาณวัตถุที่คล้ายกับฉลามได้ ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลจะนำข้อมูลจากโซนาร์มาเปรียบเทียบกับคลังข้อมูลฉลามของ Sydney Aquarium เพื่อตรวจดูว่าฉลามที่กำลังว่ายเข้ามาใกล้ชายฝั่งนั้น เป็นฉลามชนิดใด และพวกมันกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน โดยสัญญาณโซนาร์ของทุ่นอัจฉริยะนี้ สามารถจับวัตถุขนาดใหญ่กว่า 2 เมตรได้ในระยะ 60 เมตร และเมื่อทราบว่าเป็นฉลามอันตราย ทุ่นนั้นจะทำการส่งสัญญาณเตือนผ่านทางดาวเทียมของ Optus มาถึงยามชายฝั่ง เพื่อประกาศอพยพนักท่องเที่ยว นักโต้คลื่นให้ขึ้นจากท้องทะเล ก่อนที่ฉลามจะเดินทางมาถึง ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะสร้างความปลอดภัยให้แล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ Optus ในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารชั้นสูง ตลอดจนความใส่ใจในทุกรายละเอียดของชีวิต ความปลอดภัยของผู้คน ไปจนถึงเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะช่วยทำให้รัฐบาลออสเตรเลียสามารถหาวิธีการจัดการกับฝูงฉลามได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงใดๆ เรียกว่าลงทุนสร้างโครงการเดียว แต่ส่งผลดีกับแบรนด์ได้ในหลายๆ เรื่องเลยทีเดียว นี่คือตัวอย่างแรกของการทำงานโฆษณาเพื่อสังคม ซึ่งกลายเป็นข่าวดังกว่า 475 สำนักข่าวทั่วโลก ถึงผู้ชมกว่า 19 ล้านคนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ส่งผลทำให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ด้านบวกมากขึ้น นาทาน โรเซนเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Optus กล่าวไว้ว่า … “นี้ไม่ได้เป็นแค่แคมเปญโฆษณาเท่านั้น แต่มันทำให้ธุรกิจของเราเดินหน้าไปยังจุดหมายอื่นๆ นั่นคือการมุ่งมั่นทำงานที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงโลก” อีกเรื่องราวนั้นมาจากประเทศเปรู ประเทศซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ ลักษณะของภูมิประเทศเปรูนั้น จะถูกปิดกันลมฝนด้วยเพราะความสูงของเทือกเขาแอนดีสที่ตั้งขนาบบังจากเหนือจรดใต้ จนทำให้พื้นที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นดินแดนแห้งแล้งที่สุดในโลก ซึ่งมีชื่อว่า ทะเลทรายแอคทาคาม่า กรุงลิม่า เมืองหลวงของประเทศเปรู ก็ตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายอันแห้งแล้ง มีผลทำให้ประชาชนที่ยากจนกว่าเจ็ดแสนคนนั้นขาดแคลนน้ำสะอาดไว้ใช้ ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ในหมู่บ้านยากจนกันดาร ต้องทนใช้น้ำจากแหล่งบาดาล ซึ่งไม่สะอาดเพียงพอ ทว่ามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กลับใช้วิกฤติของความแห้งแล้งให้กลายเป็นโอกาสในการโฆษณา โดยใช้พื้นที่อันอัตคัดกันดารนั้นสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ในการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ที่สนใจมาสมัครเรียนด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี กับ UTEC: The University of Engineering and Technology ทีมนักวิจัยของ UTEC ร่วมกับทีมงานโฆษณาจากบริษัท Mayo DraftFCB ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักทั้งชาวเปรูและชาวโลกผ่านข่าวสารออนไลน์ โดยเขาให้ชื่อแคมเปญนี้ว่า ‘Ingenuity in Action’ ด้วยไอเดียสุดล้ำ พวกเขาสร้างบิลบอร์ดเพื่อโฆษณารับสมัครนักศึกษาใหม่ โดยที่มันไม่ได้เป็นแค่ป้ายโฆษณาธรรมดาๆ แต่เจ้าบิลบอร์ดนี้สามารถผลิตน้ำสะอาดจากอากาศได้ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่แห้งแล้ง ได้มีน้ำกินน้ำใช้ฟรีๆ พร้อมๆ กับการสร้างการรับรู้ แนวคิดสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ว่า We will continue changing the world through engineering. “พวกเรามุ่งมั่นจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางวิศวกรรม” แล้วเขาทำได้อย่างไร … ทีมนักวิจัยของ UTEC ทำการศึกษาจนพบว่า แม้พื้นที่กรุงลิม่าจะถูกรายล้อมด้วยทะเลทราย แต่สภาพภูมิอากาศนั้นกลับมีจุดเด่นอันแตกต่าง เพราะมีค่าความชื้นในอากาศมากถึง 98% ซึ่งตามแนวคิดทางวิศวกรรมแล้ว ปริมาณความชื้นในอากาศที่สูงขนาดนี้ มันเพียงพอที่จะผลิตน้ำสะอาดได้ด้วยระบบ reverse osmosis อธิบายวิธีการง่ายๆ ในบิลบอร์ดขนาดใหญ่นั้นจะมีตัวดักจับความชื้นในอากาศ ที่จะคอยดักจับไอน้ำจากอากาศซึ่งเคลื่อนที่ผ่านบิลบอร์ด โดยมีระบบให้ไอน้ำผ่านตัวทำความเย็น เป็นกระบวนการควบแน่นให้ไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำ แล้วผ่านกระบวนการกรองให้สะอาด ก่อนจะนำน้ำที่ได้นั้นมาเก็บไว้ในแท็งก์ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถนำไปใช้ได้ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ในช่วงหน้าร้อน ป้ายโฆษณาอัจฉริยะชิ้นนี้สามารถผลิตน้ำดื่มได้วันละ 96 ลิตร ซึ่งนับเป็นปริมาณที่สูงมาก เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในพื้นที่อันสุดแสนแห้งแล้งที่มีปริมาณฝนตกเพียงแค่ 0.51 นิ้วต่อปี ภายใน 3 เดือนแรก บิลบอร์ดนี้ผลิตน้ำสะอาดไปแล้วกว่าหมื่นลิตร มอบให้แก่หลายร้อยครอบครัวชุมชนได้ดื่มกินฟรีๆ บิลบอร์ดนี้ได้รับการยกย่องว่า เป็นป้ายโฆษณาชิ้นแรกของโลก ที่สามารถผลิตน้ำจากอากาศได้ และมันกลายเป็นแคมเปญโฆษณาที่ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย และกลายเป็นวิธีโปรโมทมหาวิทยาลัยอันสุดแสนน่าทึ่ง ไม่มีใครไม่จดจำชื่อ UTEC กับสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อให้เห็นว่า การมีความรู้นั้น มันช่างเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตมากเพียงไร เหมือนกับที่ ไม่มีใครไม่จดจำชื่อ Optus กับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารชั้นยอด ที่คอยช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้คน ให้รอดพ้นจากการโดนฉลามทำร้าย เราจดจำพวกเขา ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็เพราะ งาน(โฆษณา)ของพวกเขา มันได้สร้างประโยชน์จริงๆ ให้กับสังคม นี่ล่ะครับ งานโฆษณาเพื่อสังคมของยุคสมัยนี้
ลงพื้นที่มอเตอร์เวย์ M6 เตรียมความพร้อมเปิดใช้ “หินกอง – ปากช่อง” ด้านซ้ายทาง เป็นการชั่วคราว ช่วงสงกรานต์ 2568