สนข.ประชาพิจารณ์ระบบขนส่งรถรางเบา LRT” ในตัวเมืองโคราชมี 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง ครั้งสุดท้ายแล้ว เตรียมเสนอให้ครม.อนุมัติงบประมาณการก่อสร้าง ลุยเฟสแรกเส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เคาะราคา 15-25 บาท ด้าน อาจารย์มทส.ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ยันข่าวลือรถจอดข้างทางไม่ได้ ไม่จริงยังใช้ชีวิตทำธุรกิจได้ตามปกติ

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่3 โครงการศึกษาแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา ณ ห้องสุรนารี โรงแรมดุสิตปริ๊นเซสโคราช โดยมี ว่าที่ร้อยตรี นิรันดร์ ดุจจานุทัศน์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผอ.สนข. เป็นประธานฯ โดยมี หน่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และประชาชนมาร่วมกว่า 800 คน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยว่ารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม โดยด้านคมนาคมทางบก เริ่มจากการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวารเพิ่มเติม

ซึ่งกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ..2558-2565 ในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาค ด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ มีการเจริญเติบโนทางเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว เป็นศูนย์กลางการเดินทางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้เกิดปัญหาปริมาณการจราจรภายในจังหวัดหนาแน่น การกระจายสินค้า และบริการ ตลอดจนการขนส่งสาธารณะไม่คล่องตัว

นางวิไลรัตน์ กล่าวอีกว่าดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจราจรภายในจังหวัดนครราชสีมาในอนาคต และแก้ไขปัญหาจราจรอย่างยั่งยืน ทาง สนข.จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทจราจร และแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา เพื่อเป็นโรดแมปครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจราจรขนนส่งสาธารณะ และเพื่อให้การเดินทางสัญจรในจังหวัดนครราชสีมา มีความคล่องตัว

และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเป็นรูปธรรม ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล อันจะนำไปสู่การบรรเทาสภาพปัญหาการจราจรในอนาคต ทาง สนข. จึงได้ลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อพบปะกับผู้นำชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 12 ครั้ง และมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 2 ครั้ง จนนำมาสู่แผนแม่บทการสร้างระบบขนส่งรถรางเบา LRT ครั้งนี้ขึ้นนางวิไลรัตน์ฯ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.รัฐพล ภู่บุบผาพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะที่เหมาะสมกับเมืองนครราชสีมา คือรถรางเบาระบบ LRT (Liht Rail Transit System) ซึ่งเป็นระบบหลัก และมีระบบรถโดยสาร (Bus Tecnalogy) เป็นระบบรอง ซึ่งจากการศึกษาออกแบบโครงการก่อสร้าง จะมีอยู่ทั้งหมด 3 เส้นทางหลัก ได้แก่ เส้นทางสายสีเขียว สายสีส้ม และสายสีม่วง แต่ละจุดจอดสถานีจะมีระยะห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ 6 เส้นทาง

ประกอบไปด้วย ระยะที่ 1 มี 2 เส้นทาง คือ เส้นทางสายสีส้มเข้ม เส้นทางเริ่มจากแยกประโดก วิ่งไปสู่ถนนช้างเผือก เข้ารอบคูเมืองเก่า รวมระยะทาง 9.81 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 17 สถานี และสายสีเขียวเข้ม เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน มุ่งหน้าสู่ถนนมุขมนตรี เลี้ยวเข้าข้างสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ รวมระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 18 สถานี

ระยะที่ 2 สายสีม่วงเข้ม เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน วิ่งไปบนถนนมิตรภาพ เข้าสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.92 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 9 สถานี ระยะที่ 3 สายสีส้มอ่อน เส้นทางเริ่มจากโรงเรียนเทศบาล 1 วิ่งไปตำบลหัวทะเล ผ่านห้างดูโฮม ระยะทาง 5.37 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 4 สถานี

สายสีเขียวอ่อน เส้นทางเริ่มจากสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่3 ผ่านตลาดเซฟวัน และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ผ่านสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา สาขา2 รวมระยะทาง 12.12 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 13 สถานี และสายสีม่วงอ่อน เส้นทางเริ่มจากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ผ่านแยกจอหอ เข้ามาสู่ถนนสุรนารายณ์ รวมระยะทาง 4.48 กิโลเมตร มีจุดจอดสถานีทั้งหมด 3 สถานี สำหรับค่าโดยสารนั้น จะอยู่ที่ราคา 15-25 บาท

เท่าที่ทราบจากการไปสอบถามประชาชนที่อาศัยบริเวณรถรางผ่าน ทุกท่านกังวลว่าหากมีรถรางแล้วจะทำให้ไม่สามารถจอดรถยนต์ได้ ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง 100%  เพราะในบางถนนเราไม่ได้ห้ามจอดเพราะไม่เกี่ยวข้องกับโครงการเลย อย่างเส้นถ.มุขมนตรี กับถ.โพธิ์กลาง ซึ่งเป็นเฟสแรกเราออกแบบให้รถวิ่งตรงกลางถนน เราไม่ได้ระบุไปว่าห้ามจอดตรงไหน อย่างสถานีจุดจอดรถรางเราพยายามที่จะเลือกบริเวณที่เจ้าของอาคารร้านค้าตรงนั้นเห็นด้วยซึ่งการจอดรถของประชาชนข้างทางก็ยังทำได้ตามปกติ และตามกฎจราจรที่จะปรับรูปแบบอย่างไรผศ.ดร.รัฐพลฯ กล่าว

สำหรับการก่อสร้างนั้น ในเฟสแรก เส้นทางสายสีเขียวและสีส้ม คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563-2565 เฟสที่สองสายสีม่วง ปี 2566-2568 และเฟสที่สาม ส่วนต่อขยายเส้นทางต่างๆ ปี 2569-2571 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 14,000 ล้านบาท โดยภายหลังจากที่ได้ผลสรุปจากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ครบทั้ง 3 ครั้งแล้ว ทาง สนข.ก็จะได้เสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติงบประมาณการก่อสร้างต่อไป


 


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …