จากกระแสความโด่งดังของ พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) เจ้าของฉายา “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” มาพร้อมๆ กับผลประโยชน์อันมหาศาล สิ่งที่ตามมาคือ ความไม่ลงตัวเรื่องผลประโยชน์ ซึ่งตามมาด้วยความขัดแย้ง
จากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดในวัดบ้านไร่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่หลวงพ่อคูณเริ่มมีชื่อเสียง เมื่อ พ.ศ.2536 โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ภายในวัดบ้านไร่เอง หลายคนอาจจะคิดว่าท่านเป็นพระแก่ๆ รูปหนึ่ง จะไปรู้เรื่องอะไร แต่แท้ที่จริงแล้วหลวงพ่อรู้เรื่องดังกล่าวถึงขนาดที่ต้องทำพินัยกรรมไว้ล่วงหน้าถึง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกทำไว้เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2536 ส่วนฉบับที่สอง ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด ทำไว้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543
กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น เมื่อตายไปแล้วก็อยากให้ทุกคนได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรม โดยกูเองก็ได้ให้ลูกศิษย์ทั้งสี่คนเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง หลังที่กูตายไปแล้ว ส่วนเหตุผลที่กูให้เผาศพกู ก็เพราะกูไม่อยากให้เป็นภาระ ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากตัวกู กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระลงไปได้ เพราะเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมาลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกันเอง” นี่คือเหตุผลการทำพินัยกรรมของหลวงพ่อคูณ ที่พูดผ่านสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
พินัยกรรมก่อนมรณภาพของหลวงพ่อคูณเขียนเอาไว้เมื่อ 15 ปีก่อนนี้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543 โดยพินัยกรรมดังกล่าวมีพยานรับรอง 4 คน คือ 1.รศ.สุขชาติ เกิดผล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2.นายประทีป วงษ์กาญจนรัตน์ 3.นายธวัช เรืองหร่าย ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่ และ 4.นายเนาวรัตน์ สังการกำแหง นิติกร 8 (ชำนาญการ) มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เนื้อหาพินัยกรรมดังกล่าวมีข้อความว่า อาตมาหลวงพ่อคูณ อายุ 77 ปี ถิ่นพำนักวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ขอทำพินัยกรรมกำหนดการ เผื่อถึงการมรณภาพ เกี่ยวกับเรื่องการจัดงานศพของอาตมา ภายหลังที่อาตมาถึงมรณภาพลง
1.ศพของอาตมา ให้มอบแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากมรณภาพลง เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมอบให้ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปศึกษาค้นคว้าตามวัตถุประสงค์ของภาคต่อไป
2.พิธีกรรมศาสนา การสวดอภิธรรมศพ ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำพิธีสวดพระอภิธรรมศพที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน ตั้งแต่ถึงวันมรณภาพลง
3.การจัดทำพิธีบำเพ็ญกุศลเมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ
โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทำพิธีเช่นเดียวกับการจัดพิธีศพของอาจารย์ใหญ่นักศึกษาแพทย์ประจำปีร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผา ณ ฌาปนสถานวัดหนองแวง พระอารามหลวง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น หรือวัดอื่นใดที่คณะแพทยศาสตร์เห็นสมควรและเหมาะสม โดยทำพิธีเผาให้เสร็จสิ้นที่จ.ขอนแก่น
4.เมื่อดำเนินตามข้อ 3 เสร็จสิ้นแล้ว อัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำไปลอยที่แม่น้ำโขง จ.หนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม
5.ค่าใช้จ่ายและเงินอื่นใดที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามนัย ข้อ 2, 3 และ 4 ให้ดำเนินการ ดังนี้
5.1 ค่าใช้จ่ายในการจัดงานและบำเพ็ญกุศลศพทั้งหมด ให้นำเงินที่อาตมาบริจาคให้แก่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปี 2536 เป็นเงินเริ่มต้นในการดำเนินการจัดงานศพ ถ้าไม่เพียงพอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดรองจ่ายไปก่อน
5.2 ในการจัดการและบำเพ็ญกุศลศพ ตามนัยข้อ 5.1 หากมีเงินเหลือหรือมีผู้บริจาคสมทบ ให้คืนเงินที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทดรองจ่ายไปก่อนให้เสร็จสิ้น
5.3 หากมีเงินเหลืออยู่อีกหลังจากดำเนินการตามนัย ข้อ 5.1 และข้อ 5.2 แล้ว ให้มอบแก่กองทุนพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์ (หลวงปู่เทสก์) เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อาพาธประจำหอผู้ป่วยหอสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือให้ดำเนินการอย่างอื่นตามที่อาตมา หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เห็นสมควร โดยอาตมาจะแสดงความประสงค์ให้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมแนบไว้ให้ทราบต่อไป หากไม่ดำเนินการให้ถือตามความในตอนต้นเท่านั้น
6.ให้นายอำเภอด่านขุนทด ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกันเป็นผู้จัดการศพ มีอำนาจดำเนินการให้เป็นไปตามพินัยกรรมนี้
7.ให้ยกเลิกพินัยกรรม ฉบับวันที่ 15 กันยายน 2536 หรือฉบับอื่นใดที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ และให้ยึดถือพินัยกรรมฉบับนี้แทน
8.พินัยกรรมฉบับนี้ ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีการทำสำเนาไว้อีก 3 ชุด เก็บรักษาไว้ที่วัดบ้านไร่  ต.กุดพิมาย อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ศึกษาธิการอำเภอด่านขุนทด และนายอำเภอด่านขุนทด แห่งละ 1 ฉบับ
 ลงวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543
—————————————————
เจตนาแห่งพินัยกรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่ยังสุขภาพแข็งแรง นายสุทธิคุณ กองทอง อดีตนักข่าวโต๊ะพระเครื่อง “คม ชัด ลึก” แบบ “คำต่อคำ” หนึ่งในคำถามนั้น นายสุทธิคุณได้ถามถึงเหตุผลการทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าว โดยหลวงพ่อคูณ ตอบว่า
การทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระลงไปได้ เพราะเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมา ลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกันเอง
พร้อมกับเน้นย้ำคำตอบแบบภาษาบ้านๆ ว่า “กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น เมื่อตายไปแล้วก็อยากให้ทุกคนได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรม โดยกูเองก็ได้ให้ลูกศิษย์ทั้งสี่คนเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง หลังที่กูตายไปแล้ว ส่วนเหตุผลที่กูให้เผาศพกู ก็เพราะกูไม่อยากให้เป็นภาระ ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากตัวกู นี่แหละที่กูอยากให้ทำนะไอ้ลูกหลานเอ้ย”
ในวันนี้ หลวงพ่อคูณ มรณภาพลงแล้ว เป็นที่น่าจับตามองว่า พินัยกรรมก่อนมรณภาพของหลวงพ่อคูณเขียนเอาไว้เมื่อ 15 ปีก่อนนี้ คือ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2543 จะถูกดำเนินตามเจตนารมณ์ของท่านหรือไม่ ดังคำพูดที่ท่านพูดไว้ว่า
กูเองไม่อยากเป็นภาระกับคนอื่น เมื่อตายไปแล้วก็อยากให้ทุกคนได้ดำเนินการทุกอย่างตามที่ได้ระบุเอาไว้ในพินัยกรรม โดยกูเองก็ได้ให้ลูกศิษย์ทั้งสี่คนเป็นผู้ดูแลทุกอย่าง หลังที่กูตายไปแล้ว ส่วนเหตุผลที่กูให้เผาศพกู ก็เพราะกูไม่อยากให้เป็นภาระ ไม่อยากให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ใดๆ จากตัวกู กูไม่ต้องการให้ศิษยานุศิษย์เดือดร้อน หรือเกิดความวุ่นวายขึ้นเมื่อยามที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อไม่ต้องการให้เกิดเป็นปัญหาระหว่างลูกศิษย์ด้วยกัน อย่างน้อยก็เป็นการลดภาระลงไปได้ เพราะเมื่อได้ทำพินัยกรรมฉบับนี้ขึ้นมาลูกศิษย์จะได้ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกันเอง
—————————————————
แสงแห่งศรัทธา รร.ดังโคราชถล่ม
ชื่อหลวงพ่อคูณรู้จักกันมานานในถิ่นอีสาน ด้วยความเข้มขลังทางวิชาอาคม และเดินธุดงค์ ทะลุปรุอีสาน ข้ามเข้าลาวใต้จรดลาวเหนือ เป็นหนึ่งคุณสมบัติผจญภัยร่ำเรียนเก็บไว้บอกเล่า แต่ผมกลับได้ยินชื่อหลวงพ่อคูณครั้งแรกๆ ก็คราวโรงแรมโรยัลพลาซ่า กลางเมืองโคราช ถล่มเมื่อ พ.ศ.2536
ท่ามกลางการนำศพออกจากพื้นที่อย่างน่าอนาถ ก็มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นเช่นกัน เมื่อมีการพบหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกคานซีเมนต์หักลงมาทับท่อนล่างไว้ เธอติดอยู่กับความหนาหนักนั้นหลายวัน จนเมื่อพบเธอเข้า ทีมแพทย์ถูกส่งเข้าตรวจร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่ถูกทับนั้น ก่อนจะตัดสินใจผ่าตัดเพื่อตัดขาเธอออกท่ามกลางซากปรักหักพังตรงนั้นเอง ซึ่งภาพดังกล่าวถูกแพร่ออกอากาศทั่วประเทศ ผู้คนร่วมส่งกำลังใจให้เธออย่างล้นหลาม
นักแสดงอย่าง เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ และบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ที่เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิร่วมกตัญญู อยู่ให้กำลังใจเธออยู่ใกล้ๆ (ผมได้พบกับพี่น้องคู่นี้อีกครั้ง เมื่อเหตุการณ์สึนามิที่เขาหลัก) ทีมแพทย์ทำการผ่าตัดแบบกลางแจ้งเป็นครั้งแรกในประเทศ และได้รับความสำเร็จที่น่าพอใจ
เหตุการณ์ที่โคราชมีผู้เสียชีวิตถึง 137 ชีวิต และบาดเจ็บร่วม 300 หญิงสาวถูกตัดขา รอดปลอดภัยท่ามกลางความยินดีของทุกคน เธอให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า เมื่อหมดแรงและสิ้นหวัง เธอเห็นหลวงพ่อคูณมาหา และได้กราบท่านอย่างชิดใกล้ แล้วก็รอดชีวิต และที่สำคัญเธอห้อยพระหลวงพ่อคูณ เป็นการย้ำกระแสเข้มขลังไปทั่วประเทศหนักเข้าไปอีก

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนต่างเดินทางสู่วัดบ้านไร่ หาซื้อเช่าทุกอย่างที่เป็นหลวงพ่อคูณ คนใกล้ไกลต่างเดินทางมาให้ท่านเคาะหัว ตอกตะกรุดที่ท้องแขนกันอย่างมหาศาล คนไทยคนไกล รวมไปถึงข่าวลือสารพัดทั้งจริงทั้งลวง แต่ก็ทำให้ถนนทุกสายของผู้ชื่นชอบศรัทธาเดินทางสู่ด่านขุนทดอย่างหัวกระไดไม่เหือดแห้ง
หลวงพ่อถูกนิมนต์ไปทั่วประเทศ ทั้งทางรถ ทางเรือ รวมถึงเฮลิคอปเตอร์ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของภารกิจตามนิมนต์ และจากการเข้าได้ถึงพื้นที่ทุกประเภท อาคารห้างร้าน สารพัดเหรียญที่ผลิตออกมา เพียงมีรูปหลวงพ่อคูณนั่งยองๆ กับท่าถนัดสูบยา ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการขออนุญาตผลิตสร้างเหรียญออกสู่ตลาดนับพันรุ่น มีเงินสะพัดหลายหมื่นล้านบาท ทั้งวัด ทั้งชาวบ้านได้รับอานิสงส์จาก “เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด” กันอย่างทั่วหน้า
แหล่งข้อมูล : คมชัดลึก


Comments are closed.

Check Also

แกรนด์โอเพ็นนิ่ง “โคเอ็น” แบรนด์ดังร้านบุฟเฟ่ต์ญี่ปุ่นปิ้งย่าง-ชาบู-ซูชิ ผงาดเจาะตลาดอีสาน ประเดิมโคราชแห่งแรก!

ดีเดย์ แกรนด์โอเพ็นนิ่งสุดยิ่งใหญ่ KOUEN PREMIUM BUFFET … …