แม้จะเกิดเป็นลูกเศรษฐี แต่ถ้าจะให้มีดีเหนือใคร ก็ต้องเคยไปลงเรียนรู้วิชาสำคัญที่ชื่อว่า “วิชาลำบาก” ด้วยเพราะวิชาลำบากนั้น มันเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจในพื้นฐานธุรกิจ

 

CEO: ไทยยูเนียนโฟร์เซ่น

Untitled

Credit: www.japantimes.co.jp

 

เคยได้อ่านเรื่องราวของคุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารของไทยยูเนียนโฟร์เซ่น ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ ที่ต้องโหนรถเมล์ไปเรียนมหาวิทยาลัย และพอเรียนจบมาจากสหรัฐใหม่ๆ นั้น ก็กลับเข้ามาเริ่มต้นทำงานในบริษัท คุณพ่อคือคุณไกรสร จันศิริ ก็ส่งให้ลูกชาย ไปหัดเริ่มต้นทำงานด้วยการเป็นพนักงานในโรงงาน แล้วค่อยๆ ไต่เต้าฝึกฝนความสามารถขึ้นมาทีละขั้น

 

เรียกได้ว่าลูกเจ้าของบริษัท แต่กลับถูกส่งไปทำงานเป็นพนักงานธรรมดาๆ ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ โดยผู้จัดการโรงงานสามารถสั่งงานได้ทุกอย่าง แถมยังต้องรายงานความประพฤติของลูกชายโดยตรงกับคุณพ่อ โดยคุณไกรสร ให้เหตุผลว่า การให้ลูกได้สัมผัสประสบการณ์แบบนี้ จะทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าใจธุรกิจของตัวเองอย่างลึกซึ้ง เข้าใจหัวอกของพนักงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เรียกว่าได้เรียนรู้ทั้งเรื่องงาน และเรื่องคนไปพร้อมๆ กัน

 

“ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ต้องทำงานหนัก มือต้องเลอะ ไม่มีความสวยงาม ผมฝึกจนทำเป็นทุกกระบวนการและเคยนอนในโรงงานมาแล้ว 3 ปี ทำให้เข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดี” คุณธีรพงศ์ พูดถึงงานที่เคยผ่านมา จนถึงวันนี้เขามีทักษะสามารถขูดปลา ผ่าท้องปลา และแกะกุ้งได้อย่างชำนาญ

 

CEO: FLYNOW และ FN Outlet

F01

Dress from Flynow III; necklace from Club 21 Accessories.

Photograph Credit: Punsiri Siriwetchapun

 

เรื่องราวข้างต้นนี้ ได้ยินได้ฟังมานาน จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้มีโอกาสสนทนากับคุณปรีชา ส่งวัฒนา ผู้ก่อตั้งธุรกิจแฟชั่น FLYNOW และ FN Outlet คุณปรีชา เล่าแนวคิดให้ฟังว่า ส่วนหนึ่งในการอบรมลูกๆ ก็จะให้ลูกๆ ไปฝึกฝนเริ่มต้นชีวิตการทำงานในร้านอาหารของครอบครัว ซึ่งมีชื่อว่าร้านขนมจีนเส้นสด ด้วยเหตุผลว่า การทำธุรกิจร้านอาหารนั้นมันเป็นงานหนัก เป็นการนำเสนอทั้งสินค้าและบริการไปด้วยกัน ลูกๆ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องการขาย พร้อมๆ กับได้ฝึกฝนการบริการ แถมงานในร้านอาหารยังเป็นงานที่หนัก ก็เท่ากับว่าเป็นการฝึกความอดทนไปด้วยพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นก็คือการสร้างพื้นฐานที่ดีในการรับผิดชอบงานใหญ่ในอนาคต

 

หลังผ่านกระบวนการฝึกงานในร้านอาหารของครอบครัวแล้ว คุณปรีชา ก็มักจะชวนลูกๆ ให้เดินทางไปหัวหิน แต่เดินทางไปครั้งใด ก็มักจะไปไม่ถึงหัวหิน เพราะลูกๆ มักจะถูกพาให้ไปช่วยขายของที่ FN Outlet สาขาเพชรบุรี อยู่เป็นประจำ

 

คุณปรีชา อธิบายให้ฟังว่า การทำแบบนี้ จะทำให้ลูกๆ ได้รับประสบการณ์ ได้เรียนรู้วิธีขายของ ได้ลองสัมผัส รับมือกับความรู้สึกของลูกค้า แบบตัวจริงๆ ไม่มีแสตนด์อิน ได้สัมผัสถึงความพอใจ และความไม่พอใจ ได้เรียนรู้ถึงความสุขสมหวังเมื่อขายได้ พร้อมๆ กับได้เรียนรู้จัดการกับความผิดหวังเมื่อปิดการขายไม่สำเร็จ ได้รู้จักกับการสร้างพลังใจให้กับตัวเอง ในยามที่ลูกค้าทำให้เหน็ดเหนื่อยท้อใจ เจ้าอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้นี่เอง ที่มันไม่มีสอนในโรงเรียนธุรกิจ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์จริงๆ เท่านั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ทำให้เข้าใจ รับรู้ รู้สึก รู้ลึกถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

 

CEO: Ruma (Nano Financial Application)

smartphone-users-720x532

Credit: en.citizendaily.net

กับอีกเรื่องราวของซีอีโอผู้สร้างแอ็พพริเคชั่นทางการเงินในมือถือชื่อ Ruma เป็นสตาร์ทอัพ จากอินโดนีเซีย นามว่า อัลดี แฮรีโอปราโตโม อัลดี ใช้แรงบันดาลใจจากภาพยนต์ประวัติของ เช กูวารา เป็นไอเดียในการออกเดินทางเพื่อสำรวจตลาดสถาบันการเงินชุมชนรายย่อย โดยมุ่งศึกษาการทำงานแบบไมโครไฟแนนซ์ ของอินโดนีเซีย ด้วยการใช้รถมอเตอร์ไซค์บิดออกสำรวจไปทั่วประเทศ

 

โดยความคิดและความรู้ที่สั่งสมได้ระหว่างทาง มันทำให้เขาค้นพบกับไอเดีย ในการบริหารจัดการเงินให้กับลูกค้าขนาดย่อย เขานำเสนอโปรเจค Ruma นี้ ผ่านการระดมทุนในซิลิคอนวัลเลย์ และได้รับความไว้ใจจาก กลุ่มทุน กูหนุงเชวู เกนจานา ซึ่งเป็นกลุ่มลงทุนยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซีย ที่มาช่วยให้ทุนเพื่อต่อยอดกิจการเพราะความรู้จากการขี่รถมอเตอร์ไซค์สำรวจ เข้าไปในทุกๆ พื้นที่ห่างไกล เขาพบว่าคนในชนบทนั้นสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้เพียงแค่ 16% ซึ่งนั่นมันช่างไม่ตอบโจทย์ในการเป็นอินเตอร์เนทแอ็พพริเคชั่น ที่ให้บริการด้านการเงิน

 

แต่เพราะการเดินทางไปเห็นวิถีชีวิต ทำให้เขาค้นพบจุดขายใหม่ ในการให้บริการ จ่ายค่าไฟ จ่ายคืนเงินกู้ ผ่าน Ruma โมบายแอ็พพริเคชั่น โดยการสร้างผู้แทนขาย เพื่อเป็นผู้ให้บริการสำหรับคนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ซึ่งนั่นคือ การเปิดตลาดให้ร้านค้าเล็กๆ ในชุมชน กว่า 30,000 ราย ทั่วประเทศ เป็นตัวกลางในการรับจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านแอ็พพลิเคชั่น Ruma โดยลูกค้าที่อยากใช้บริการจ่ายค่าบริการออนไลน์ แต่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ก็สามารถใช้บริการได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่เดินเข้าไปยังร้านค้าเล็กๆ ที่เปิดให้บริการ โดยร้านค้าก็จะได้ส่วนแบ่งค่าธรรมเนียมในการทำรายการจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ ไปตามอัตราส่วน

 

รูม่า แอ็พ ประสบความสำเร็จ มีลูกค้ากว่า 1.5 ล้านคน บริษัทมีพนักงานกว่า 500 คน โดยพนักงาน 300 คนจะหมั่นออกเดินทาง เพื่อไปเยี่ยมตัวแทนสามหมื่นรายทั่วประเทศ โดย ซีอีโออย่าง อัลดี ก็ยังคงขี่รถมอเตอร์ไซค์ ออกสำรวจพื้นที่ ไปพบปะเอเยนต์ และลูกค้า ในหมู่บ้านต่างๆ ทุกๆ สัปดาห์ๆ ละสองวัน บนความเชื่อว่า การเข้าถึงความรู้สึกของผู้บริโภคอย่างแท้จริงนั้น จะช่วยให้การตัดสินใจต่างๆ ของเขานั้นชัดเจน ซึ่งมีประโยชน์สำหรับผู้บริหาร

 

หากจะย้อนกลับมาดูประวัติชีวิต ของชายหนุ่มคนนี้ เราจะพบว่า เขาเกิดในครอบครัวที่บิดา ทำงานเกี่ยวข้องกับการสร้างถนน ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาชนบท และเขานั่นเอง ที่ก็ใช้ถนน ในการเข้าไปค้นหาคำตอบใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ วิชาติดดิน แบบนี้นี่เอง ที่ละม้ายคล้ายเป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ซีอีโอ จะค้นพบคำตอบได้ ต้องได้สัมผัส ลิ้มลอง ของจริงๆ ด้วยตัวเอง

 

ภาพประกอบ: www.fastcompany.com

แหล่งข้อมูล: คอลัมน์ BIZ Life (Post Today) โดย ก้า อรินธรณ์

สามารถติดตามอ่านเรื่องราวต่างๆ แบบนี้ได้ที่ FB FANPAGE : Ga Arintorns


Comments are closed.

Check Also

Muuji Festival 2024 เทศกาลดนตรีแบบฉบับญี่ปุ่น ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ฉีกไอเดีย Festival แนวใหม่ Vibes ญี่ปุ่นจัดเต็ม ท่ามกลางเขาใหญ่

พร้อมเข้าสู่ปีที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่! Muuji Festival 2024 … …