เรียกได้ว่าคืบหน้าไปเยอะมากสำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ในเส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา หลังจากที่มีการประชุมหลายครั้งในหัวข้อนี้ ล่าสุดได้เริ่มต้นก่อสร้างแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 ที่ผ่านมา โดยช่วงแรกเริ่มก่อสร้างจากสถานีกลางดง–ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะทยอยสร้างให้เสร็จและเปิดใช้งานในปี 2564 และเพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับรถไฟจีน ที่กำลังจะมาโลดแล่นในไทยในเร็วๆ นี้ นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และสมาคมผู้สื่อข่าวไทย–จีน ได้ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนของได้ มุ่งหน้าสู่ประเทศจีน ไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของแดนมังกร เพื่อเป็นข้อมูลหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ให้เกิดขึ้น โดยงานนี้ นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ และคณะสื่อมวลชนของไทย ได้นั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่ง ไปชมโรงงานผลิตรถไฟที่เมืองชิงเต่า ตลอดการดูงานครั้งนี้ คณะสื่อมวลชนไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจาก สำนักข่าวซินหัว เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่จะไปเยี่ยมชม โดยเริ่มต้นกันที่ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ที่รับงานผลิตขบวนรถไฟของจีนส่งขายในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย นางหลี่ หมิ่น รองผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บรรยายสรุปให้ทราบถึงวิวัฒนาการรถไฟของจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า เดิมได้ผลิตขบวนรถไฟแบบธรรมดา ผสมกับรถไฟเพื่อการขนส่ง ซึ่งมีความเร็ว 3 ระดับ คือ 120, 140 และ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในช่วงปี 2547 ได้เริ่มนำเข้าเทคโนโลยีรถไฟจากต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี เพื่อนำมาศึกษาเรียนรู้ และต่อยอดพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตัวเอง โดยใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ในการศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าว จนสามารถมีเทคโนโลยีผลิตรถไฟความเร็วสูงเป็นของตัวเองได้ โดยเริ่มที่ความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เริ่มเส้นทางแรก จากปักกิ่ง-เทียนสิน ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีเดียวกับช่วงที่จีนได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก จากนั้นจึงได้พัฒนาเรื่องรถไฟอย่างเรื่อยมา จนตอนนี้มีขบวนรถที่วิ่งอยู่ที่ความเร็ว 300-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาความเร็วไปอีกขั้น โดยนำรถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ ชื่อว่า “ฟู่ชิง” มาทดลองวิ่งในเส้นทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ โดยทำความเร็วเฉลี่ย 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากรับทราบข้อมูลจากบริษัทซีอาร์อาร์ซีแล้ว คณะสื่อมวลชนไทย ยังได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งมายังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง และถือโอกาสทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงไปในตัว ตลอดการเดินทางที่ได้สัมผัส พบว่ารถไฟจะทำความเร็วที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของสถานี แต่ได้ทำความเร็วสูงสุดที่ 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเงียบไร้เสียงรบกวนจากภายนอก คณะสื่อมวลชนไทยได้นั่งรถไฟจากกรุงปักกิ่ง ไปที่เมืองชิงเต่า รวมระยะทางประมาณ 819 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง 30 นาทีเท่านั้น และได้ทำการเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูง ในนามของ บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซือฟาง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทซีอาร์อาร์ซีนั่นเอง ทางทีมงานของซีอาร์อาร์ซีฯ ได้นำชมเทคโนโลยีบางส่วนของการผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยมี นายเซียะ จิงเฉิง ผอ.แผนกความร่วมมือต่างประเทศ พร้อมบรรยายสรุปให้ฟังว่า ขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มต้นการก่อสร้าง ทางบริษัทได้นำระบบเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality ภาพจำลองขบวนรถไฟอย่างละเอียด สัดส่วนเท่าของจริง เพื่อออกแบบขบวนรถไฟให้ได้ขนาดความเหมาะสมตามความต้องการของผู้ผลิต พร้อมทั้งยังมีระบบทดสอบชิ้นส่วนต่างๆว่ามีปัญหาหรือไม่ อาทิ ทดสอบแรงดันภายในขบวน ระบบทดสอบความแข็งแรง ระบบทดสอบแรงกระแทก รวมถึงเทคโนโลยีควบคุมเสียงรบกวนภายในขบวน เนื่องจากรถไฟที่ใช้ความเร็วจะมี เสียงลมรบกวน โดยจะมีการสร้างขบวนจำลองมาทดสอบกับระบบดังกล่าว ก่อนที่จะมีการก่อสร้างจริง จากนั้นได้นำไปชมกระบวนการการผลิต เช่น โรงงานเชื่อมต่อตู้ขบวนรถ โรงงานประกอบรถ ซึ่งยังมีโรงงานแยกทำหน้าที่อยู่หลายชิ้นส่วน แล้วจะนำมาประกอบกันให้ออกมาในรูปแบบสำเร็จ ก่อนจะนำไปทดสอบการวิ่ง เพราะที่โรงงานได้ทำรถไฟไว้ด้วย ทั้งนี้ โรงงานในเมืองชิงเต่าสามารถผลิตขบวนรถไฟความเร็วสูงในแบบสำเร็จได้วันละ 6 ตู้ หรือ 180 ตู้ต่อเดือน สำหรับการผลิตขบวนรถไฟให้กับประเทศไทยนั้น นายกง รุ่ยหมิง รองผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซือฟาง เผยว่า มีความพร้อมสนับสนุนและผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยสามารถจัดสร้างขบวนรถไฟได้ตามความต้องการในรูปแบบต่างๆที่เหมาะกับประเทศไทย “รถไฟความเร็วสูงทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่จะช่วยพัฒนาตลอด 2 ข้างทาง เชื่อว่าถ้ารถไฟความเร็วสูงที่สร้าง ในระยะเริ่มต้น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จ ชาวไทยจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน” นายกง รุ่ยหมิง กล่าว แหล่งข้อมูล : ไทยรัฐ
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market