“คลังสเตชั่น”ชะลอการก่อสร้างชั่วคราวเหตุทำหนังสือถึงการรถไฟฯ 2 ครั้งขอดูแบบการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่และไฮสปีดเทรนแต่กลับเงียบ เพราะมีส่วนสำคัญทำให้ทางเข้าหน้าห้างตัน และหากสร้างไปแล้วจะแก้แบบไม่ได้ ด้าน “เสี่ยเหลียง”ไพรัตน์ มานะศิลป์ ลั่น “ครอบครัวทำธุรกิจค้าปลีกเปิดห้างท้องถิ่นโคราช มา 60 ปีไม่เคยมีปัญหาการเงิน ทุกอย่างเคลียร์ได้” จากกรณีข่าวใน “มติชนออนไลน์” ลงข่าวการก่อสร้างห้างท้องถิ่นโคราชแห่งใหม่ “คลังสเตชั่น” สาขา4 ของห้าง“คลังพลาซ่า”ของครอบครัว “มานะศิลป์” โดยมีกรณีคนงานของบริษัท คริสเตียนีและนีสเส็น (ไทย) จำกัด มหาชน กำลังเร่งเคลื่อนย้ายเครื่องจักรกลหนักและอุปกรณ์ก่อสร้างออกจากพื้นที่ก่อสร้างฯโดยมีวิศวกรคอยสั่งการปฏิบัติหน้าที่ควบคุม เหลือทิ้งไว้แต่ทาวเวอร์เครน 2 ตัว และเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ต้องใช้รถเครนดำเนินการ การหยุดก่อสร้างโครงการมูลค่ากว่า 700 ล้านบาทกะทันหันและข่าวลือว่าไม่จ่ายเงินบริษัทรับเหมา 3 เดือน ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ Korat Startup และเพจ Korat : เมืองที่คุณสร้างได้ สัมภาษณ์เรื่องที่เกิดขึ้นโดย นายไพรัตน์ มานะศิลป์ หรือ “เสี่ยเหลียง” รองประธานบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ได้เปิดเผยถึงข่าวชะลอการก่อสร้างโปรเจ็กต์ “คลังสเตชั่น” หนองไผ่ล้อมห้าแยกหัวรถไฟที่เกิดขึ้นว่า “มีนักข่าวจากมติชนโทรมาหาว่ามีข่าวลือว่าเราได้หยุดการก่อสร้างห้างคลังสเตชั่น เพราะสาเหตุบางอย่างและผู้รับเหมาได้ขนอุปกรณ์ออกจากไซท์งาน ตนก็บอกว่าอย่าเชื่อข่าวลืมมาสัมภาษณ์เองเลยจะได้รู้ความจริง” “โดยเรื่องจริงมีอยู่ว่าหลังจาก “คลังพลาซ่า” ได้เริ่มก่อสร้างสาขา4 “คลังสเตชั่น” ซึ่งได้รับสิทธิการเช่าที่ดิน 17 ไร่จากสถานีรถไฟนครราชสีมา 34 ปีและเริ่มล้อมรั้วก่อสร้างหลังจากผ่านไปแล้ว 4 ปี เพื่อปลูกสร้างอาคารโครงการห้างคลังสเตชั่น โดยมี บมจ.คริสเตียนนี และนีลเส็น (ไทย) เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง มีกำหนดระยะก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 1 ปี โดยเริ่มสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา และกลับมีข่าวลือต่างๆออกมาถึงสาเหตุที่ชะลอการก่อสร้างโครงการ“คลังสเตชั่น” ทั้งๆที่ได้ก่อสร้างจากชั้นใต้ดินของอาคารหลักมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 40% แล้ว” นายไพรัตน์ กล่าวต่อว่า “สาเหตุเรื่องนี้เนื่องมาจาก ตนได้ส่งหนังสือไปถึงการรถไฟฯเพื่อขอดูแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับว่ามีรูปแบบเป็นอย่างไง โดยยื่นหนังสือไปถึง การรถไฟฯและบริษัทออกแบบโครงการฯ เพื่อขอดูแบบตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2560 แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากการรถไฟกลับมาเลย” “หลังจากนั้นก็ส่งหนังสือไปอีกครั้ง เพราะตนเป็นห่วงเรื่องรูปแบบของการก่อสร้างที่อาจมีกำแพงกั้นจะทำให้ทางเข้าห้างไม่สะดวก แม้ว่าทางรถไฟจะเป็นยกระดับตามข่าวที่หน่วยงานในโคราชเรียกร้องให้เปลี่ยนจากแนวพื้นดินเป็นทางยกระดับ แต่ก็ยังไม่เห็นรูปแบบว่าเป็นอย่างไร” “ซึ่งจากแบบของห้างคลังสเตชั่น บริเวณหน้าห้างจะเป็นบ้านโบราณ 5 หลังสมัยรัชกาลที่5 ที่เราอนุรักษ์ไว้แล้วนำมาปรับปรุงใหม่ จะมาตั้งหน้าห้างซึ่งจะมีผลกับทางเข้าห้าง และเราก็ไม่ได้รับคำตอบใดๆเลยจากทางรถไฟฯที่เราส่งหนังสือถามไป เพราะหากสร้างห้างไปแล้วจะแก้ไขแบบไม่ได้ ก็จะทำให้เราเสียหายมากกว่านี้” “ตนไม่ทราบเหตุว่าทำไมทางรถไฟถึงไม่ตอบกลับมา เรายืนยันว่ามีหนังสือและหลักฐานการรับ-ส่งทางไปรษณีย์ชัดเจนว่าทางเราส่งเรื่องนี้ไปถามจริง กว่า 3 เดือนแล้วที่การก่อสร้างเริ่มขึ้นก็ไม่ได้รับคำตอบกลับมาเลย และเรื่องโครงสร้างบ้านโบราณที่จะมาตั้งตรงหน้าห้างนี้ยังแก้ไขทันก็เลยสั่งเบรกไว้ก่อนแต่ก็มีผลกระทบทั้งโครงการหากยังไม่ได้เห็นรูปแบบทางรถไฟจริงๆเพราะการรถไฟยังไม่ชัดเจนที่จะตอบมาทางเรา” นายไพรัตน์ กล่าวอีกว่า “เราทำหนังสือขอหยุดก่อสร้างโครงการคลังสเตชั่นชั่วคราวกับบริษัทผู้รับเหมาทั้งหมดไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบว่าข่าวลือต่างๆนาๆที่ออกมาๆจากไหน เพราะการที่ต้องชะลอการก่อสร้างโครงการ “คลังสเตชั่น” ที่ใช้เงินลงทุนกว่า 750 ล้านบาท ก็เพื่อไม่ให้เราเสียหายไปมากกว่านี้ หากยังก่อสร้างตามแบบเดิม จึงขอเบรกไว้ชั่วคราวไม่ได้ล้มโครงการอย่างที่เป็นข่าวลือหรือมีปัญหาขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด เพราะครอบครัวมานะศิลป์ทำธุรกิจค้าปลีกมาถึง 60 ปีไม่เคยมีปัญหาเรื่องนี้ตนกล้ายืนยัน” “การที่เราชะลอการก่อสร้างห้างคลังสเตชั่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีแน่นอนแต่ก็ยังดีกว่าก่อสร้างโดยที่ไม่รู้ว่าปัญหาจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง อาจจะทำให้เราเสียหายมากกว่า ดังนั้นการที่เราหยุดชั่วคราวเพื่อปรับแบบใหม่ให้เข้ากับทางรถไฟที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นการลดความเสี่ยงได้มากกว่าและไม่เสียหายมากกว่านี้ จึงขอทบทวนโครงการก่อน ส่วนการก่อสร้างที่เกิดขึ้นแล้วค่อยมาว่ากันไม่มีปัญหาใดๆทั้งสิ้นเราเคลียร์ได้” “แต่ตราบใดที่เรายังไม่เห็นรูปแบบจากการรถไฟที่ขอดูไป เราจะตอบอะไรไม่ได้เลย หากดันทุรังก่อสร้างไปก็จะเสียหาย 2 ครั้ง สร้างไปแล้วก็ต้องมารื้อทิ้ง แต่ตอนนี้ยังเพิ่งเริ่มก่อสร้างยังไม่ถึงไหนก็ขอเบรกไว้ก่อนดีกว่า ส่วนค่าเสียหายที่ก่อสร้างไปแล้วก็ว่ากันมาจ่ายให้หมดไม่มีปัญหา แม้ว่าเวลาสัญญาเช่าที่ดิน 17 ไร่ตรงนี้จะเหลือ 29 ปีก็ตามแต่ขอให้ชัวร์เรื่องแบบของทางรถไฟก่อน” นายไพรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย “สำหรับโปรเจ็กต์ห้าง“คลังสเตชั่น” เดิมทีครั้งแรกใช้ชื่อว่า “คลังสแควร์” ก่อนที่จะเปลี่ยนใช้ชื่อว่า “คลังสเตชั่น” ให้ชื่อมีกลิ่นอายของความเป็นสถานีรถไฟเลยใช้ชื่อนี้มาใช้เป็นคอนเซ็ปต์ ส่วนรูปแบบห้างจะเป็นกึ่งคอมมูนิตี้มอลล์แบบผสมผสาน จะไม่เหมือนกับ“คลังวิลล่า” จะฉีกรูปแบบไปอีกจะมีประมาณ 10 อาคารสูง 3 ชั้น รูปแบบ “คลังสเตชั่น” มี 10 ตึกแยกเป็น 4 โซนหลักมี “โซนคลังเพลิน โซนคลังสเตชั่น โซนคลังมาร์เก็ต และโซนแบล็คยาร์ด” “คลังสเตชั่น” จะเป็นสถานีแลนด์มาร์คแฮงค์เอ้าท์แห่งใหม่ของคนโคราช เป็นสาขาที่ 4 บริเวณแยกนิ๊งหน่องที่คนโคราชพูดกันตรงนี้มีเนื้อที่เช่าจากการรถไฟ 14ไร่ครึ่งและริมถนนที่เป็นตึกด้านริมถนนอีก 3 ไร่รวม 17 ไร่ซึ่งจะใหญ่กว่าห้างคลังวิลล่า ถนนสุรนารายณ์มาก ที่มีเนื้อที่ 5ไร่ และห้างคลังสเตชั่นจะเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดของห้างคนโคราชคลังพลาซ่า และได้เริ่มเคลียร์ที่ดินล้อมรั้วก่อสร้างแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา มีกำหนดต้องสร้างเสร็จภายใน 12 เดือนหรือ 1 ปี จะสามารถเปิดให้บริการครบทุกโซนประมาณไตรมาส3 ปี2561 โดยใช้งบลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท สำหรับที่ดินบ้านพักของรถไฟ 17 ไร่ที่จะสร้างห้างคลังสเตชั่น สาขา4 คลังพลาซ่าตรงนี้จะมีบ้านเก่าๆโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 5 หลัง เราจะอนุรักษ์ไว้พร้อมปรับปรุงใหม่ โดยได้แยกชิ้นส่วนเอามาปรับทำใหม่ให้มีความเก่าแต่ทันสมัยขึ้นตกแต่งให้สวยงามดูเก๋ๆ หลังจากบูรณะเสร็จแล้วจะเอามาสร้างประกอบใหม่ให้มาอยู่ในโซนเดียวกัน และดีไซน์ “คลังสเตชั่น” ยังมีหอนาฬิกาจะนำมาผสมผสานกับกลิ่นอายของสถานีรถไฟเหมือนชื่อห้าง จะเป็นห้างแนวใหม่ไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนโคราช ที่ดูคลาสสิค หากสร้างเสร็จ“คลังสเตชั่น” จะเป็นสถานีแลนด์มาร์คใหม่ของการช้อปปิ้ง มาพักผ่อน มาพบปะถ่ายรูปมีความเป็นธรรมชาติเป็นโลเกชั่นสีเขียวแห่งใหม่ของชาวโคราช
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market