เป็นที่น่าจับตามอง หลังจาก “บิ๊กซี” เข้ามาอยู่ในชายคา “บีเจซี” บริษัทในกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป ซึ่งเป็น “ธุรกิจปลายน้ำ” จิ๊กซอว์สำคัญที่ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” หมายมั่นมานาน ทำให้ในที่สุด “ทีซีซี กรุ๊ป” มีความครบวงจรทั้งระบบ Supply Chain ตั้งแต่ผลิต – จัดจำหน่าย – ช่องทางการขาย และสามารถเชื่อมโยงตลาดในประเทศ สู่ตลาดอาเซียน “ยุทธศาสตร์ของบิ๊กซี เสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจรีเทล ทั้งสาขาเดิม และขยายสาขาใหม่ ขณะเดียวกันพัฒนาธุรกิจใหม่ ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อต่อไปบิ๊กซีแต่ละสาขา จะเป็นจุดหมายปลายทางของผู้บริโภค ของคนในชุมชนในการซื้อสินค้า ใช้ชีวิต หรือแม้แต่ใช้บริการต่างๆ” คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว Roadmap ของ “บิ๊กซี” ภายใต้การบริหารของ “บีเจซี” ในปี 2560 อยู่ในช่วงการวางระบบหลังบ้าน ควบคู่กับการกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้านสำคัญ นั่นคือ – ขยายสาขาทุก Store Format ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันมี 190 สาขา ปีนี้ตั้งเป้าเปิดเพิ่มอีก 9 – 10 สาขา เน้นขยายในต่างจังหวัดที่ยังไม่มีสาขาของบิ๊กซี / ขนาดกลาง “บิ๊กซี มาร์เก็ต” ขณะนี้มีประมาณ 59 สาขา ตั้งเป้าเปิดเพิ่มไม่เกิน 10 สาขา / ขนาดเล็ก “มินิบิ๊กซี” ขณะนี้มี 491 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 383 สาขา เนื่องด้วย “มินิบิ๊กซี” เป็นฟอร์แมตขนาดเล็ก จึงมีศักยภาพในการขยายสาขาได้เร็ว เข้าไปยังพื้นที่ชุมชน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ดังนั้นเพื่อให้ก้าวได้เร็ว ปีนี้เป็นต้นไป “บิ๊กซี” จึงเน้นขยายผ่านแฟรนไชส์ นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงสาขาเดิมให้ทันสมัยขึ้น และ “บีเจซี” ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ จะต้องมีสาขาบิ๊กซี ทั้งฟอร์แมตเล็ก และใหญ่ที่ลาว และกัมพูชา – เสริมทัพบริการด้านการเงินและประกัน และบริการรับชำระบิล – บริการใหม่ที่หลากหลาย เนื่องจากหัวใจของธุรกิจค้าปลีกยุคนี้ ไม่ได้เป็นเพียงช่องทางจำหน่ายสินค้าอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมีความครบวงจร หรือ One Stop Service ให้กับลูกค้า และหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของการต่อภาพ One Stop Service คือ บริการด้านการเงิน ประกัน และรับชำระบิล (Bill Payment) รวมถึงบริการด้านอื่นๆ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน ตั๋วเดินทาง ตั๋วคอนเสิร์ต ด้วยเหตุนี้เอง “บิ๊กซี” จึงได้จัดตั้งทีม “ธุรกิจใหม่” ทำหน้าที่พัฒนา “บริการใหม่” โดยเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ คือ “Big Care” ให้บริการด้านการเงิน และประกัน โดยเป็นเคาน์เตอร์ตั้งอยู่ใน 130 สาขาของรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต และแบรนด์ “Big Service” สำหรับให้บริการใหม่ๆ ต่าง เช่น รับชำระบิล (Bill Payment) จองตั๋วเครื่องบิน เติมเงินโทรศัพท์ ปัจจุบันเปิดใน 15 สาขาของบิ๊กซี สำหรับบริการด้านการเงิน และประกัน ล่าสุดจับมือกับ “อิออน” เปิดตัว “บัตรเครดิตบิ๊กซี แพลทินัม เพย์เวฟ” และ “บัตรสินเชื่อบิ๊กซี เอ็กซ์คลูซีฟ” เหตุผลที่เลือกอิออนเป็นพันธมิตรธุรกิจ เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ของตลาด Consumer Finance และมี Customer Segment ตรงกับกลุ่มลูกค้าบิ๊กซี ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแมส ดังนั้นการผนึกกำลังกันครั้งนี้ จะช่วยเสริมฐานลูกค้าให้แก่กัน โดยลูกค้าที่สมัครบัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อดังกล่าว จะเป็นสมาชิกบัตร Big Card ซึ่งเป็นบัตร Loyalty Program ของบิ๊กซีโดยอัตโนมัติ โดยปัจจุบันฐานสมาชิกบัตร Big Card อยู่ที่ 10 ล้านใบ และในอนาคตอาจเชื่อมโยงเบเนฟิตระหว่างบัตรการเงินดังกล่าว กับ Big Card เข้าด้วยกัน นอกจากนี้การจับมือกับ “อิออน” ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น ในอนาคตอาจขยายความร่วมมือกับ “กลุ่มอิออน” ในภูมิภาคอาเซียนก็เป็นไปได้ ซึ่งกลุ่มอิออน เป็นกลุ่มทุนใหญ่จากญี่ปุ่น มีทั้งธุรกิจค้าปลีก และการเงิน ที่เวลานี้โฟกัสการลงทุนในอาเซียน “บิ๊กซีเคยมีบริการด้านการเงิน และประกันอยู่บ้าง แต่เมื่อก่อนบริการด้านการเงิน กับประกันแยกกัน แต่ปัจจุบันเราได้ปรับเปลี่ยน โดยเอามารวมกัน เพื่อทำให้แข็งแรงมากขึ้น ให้บริการในเคาน์เตอร์เดียวกัน โดยต่อไปจะมีโปรดักส์ใหม่ออกมาเป็นระยะๆ เหตุผลที่เรารุกบริการการเงิน และประกัน ภายใต้แบรนด์บิ๊กซี เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบิ๊กซี กับลูกค้าให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น เพราะบัตรเครดิต และบัตรสินเชื่อดังกล่าว เหมือนเป็นสินค้า House Brand ของเรา แต่เป็นบริการด้านการเงิน ทำให้เราตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น ทั้งยังทำให้ลูกค้าอยู่กับเรา และนึกถึงบิ๊กซีตลอด ไม่ใช่แค่ช้อปในศูนย์ฯ เท่านั้น เพราะบัตรนี้ติดตัวเขาไปทุกที่” ดร. ปิยะวรรณ ปิยะพงษ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริการ ขยายความเพิ่มเติม นอกจากนี้ “ทีซีซี กรุ๊ป” ยังมีกลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน ภายใต้ “กลุ่มบริษัทอาคเนย์” เพราะฉะนั้น Network สาขาของบิ๊กซี จึงเป็นช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันและการเงินของอาคเนย์ ไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศได้ “บริการด้านการเงิน และประกัน รวมถึงบริการต่างๆ เป็นรายได้เสริม เนื่องจากธุรกิจหลักยังคงเป็นค้าปลีก แต่วัตถุประสงค์หลักของการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการใหม่ เนื่องจากเราต้องการสร้างความครบวงจร และอยากเพิ่มฐานลูกค้าบิ๊กซี” – ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพ “อาหารสด” ทุกวันนี้ผู้ให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต หันมาโฟกัสสินค้ากลุ่ม “อาหารสด” มากขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถสร้างความแตกต่างได้มากกว่าสินค้าอุปโภคทั่วไป และเป็นสินค้าที่ต้องบริโภคทุกวัน จึงสามารถเพิ่มความถี่ของลูกค้าในการใช้บริการสาขาได้มากขึ้น จึงทำให้เกมการแข่งขันเวลานี้ หลาย Chain Store มุ่งมาที่กลุ่ม “อาหารสด” และยังลงลึกไปถึงการควบคุมคุณภาพทั้ง Supply Chain ของสินค้า ตั้งแต่กระบวนการปลูกของเกษตรกร การปลูกสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด การขนส่ง การกระจายสินค้าเข้าสู่สาขาต่างๆ นี่คือยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้านหลัก ที่ “บิ๊กซี” ภายใต้ชายคา “บีเจซี” มุ่งพัฒนา ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมพนักงานที่ปัจจุบันมีกว่า 30,000 คน ทั้งหมดนี้เพื่อเร่งก้าวให้ทันคู่แข่ง และทำให้ “บิ๊กซี” เป็นหนึ่งในทางเลือกสำคัญของ “คู่ค้า” และเป็นจุดหมายปลายทางด้านการซื้อสินค้าและใช้บริการต่างๆ สำหรับผู้บริโภค ทั้งในประเทศ และอาเซียน แหล่งข้อมูล : brandbuffet
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market