ก่อนเดินคุณต้องรู้จักเท้าฉันใด ก่อนก้าวคุณต้องเห็นจุดสตาร์ทฉันนั้น เช่นกัน … คุณจะมีพรุ่งนี้ได้อย่างไรหากไม่มีวันนี้ คุณจะมีวันนี้ได้อย่างไรหากไม่มีเมื่อวานนี้ การเรียนรู้อดีตไม่ใช่เรื่องคร่ำครึหรือล้าสมัย ‘เต่าล้านปี’ แต่เป็นการศึกษาเพื่อให้รู้อนาคต สามารถกำหนดทิศทางเดิน ไม่ซวนเซ หลงทาง หรือมืดบอด เป็นไส้เดือนตาบอดในหลอดทดลองแก้วขนาดกลาง ‘แบ็ค’ เพื่อที่จะได้ ‘โกทู เดอะฟิวเจอร์’ ‘เรือนโคราช’ จึงเปรียบเสมือนไทม์แมทชีน อรัมภบท | ว่ากันว่า หากอยากทำความรู้จักกับใครให้ถ่องแท้ ไม่ต้องเสียเวลาสะกดจิตหรือพึ่งพาพ่อมดหมอผีที่ไหนหรอก คุณสามารถหาคำตอบสุดท้ายที่ใช่ที่สุดและง่ายดายที่สุดได้จาก ‘บ้าน’ เพราะบ้านคือประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดอันแสดงตัวตนของแต่ละคนได้ถูกต้องที่สุดแบบบูรณาการและพาโนราม่า เพราะบ้านที่เราอยู่บ่งบอกตัวตนที่แท้จริงของเราทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิด สังคม สิ่งแวดล้อม กรอบความคิด ประสบการณ์ รสนิยม เอกลักษณ์ ภูมิปัญญา จิตใจ จิตวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึก การอบรมเลี้ยงดู หรือแม้แต่ศรัทธาความเชื่อ ฯลฯ นั่นก็เพราะบ้านคือตัวแทนทั้งหมดของเรา เราอยู่บ้าน เราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในบ้าน ทิ้งบางอย่าง เก็บบางอย่าง หรือซ่อนบางอย่างไว้ที่บ้าน เราปลอดภัยเป็นส่วนตัวในบ้านของเรา แล้วเหตุไฉนบ้านจะไม่อาจบอกตัวตนของเราได้ล่ะ คนโบราณเรียกบ้านว่าเรือน ฉะนั้นแล้ว หากคุณคือคนโคราชที่อยากศึกษารากเหง้าของตนเอง หรือเป็นคนต่างถิ่นที่คิดจะทำความรู้จักกับคนโคราชอย่างถ่องแท้ไม่ใช่เพียงผ่านประมาณ ‘ยินดีที่ไม่รู้จัก’ แล้วล่ะก็ คุณควรต้องถอดรองเท้า ล้างเท้า แล้วไต่กระไดขึ้นมาบน ‘บ้านโคราช’ หรือเรียกอย่างโบราณก็คือ เรือนโคราช สิ แล้วคุณจะต้องยินดีที่ได้รู้จักแน่นอน … ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ คุณสามารถรู้จักคนโคราชย้อนไปถึงบรรพบุรุษต้นตระกูลได้ตั้งแต่เสาเรือน ตีนบันได ยันจั่วหลังคากันเลยทีเดียว กลอนเล่าเรื่องเรือนโคราช | ภายในโอบล้อมของทิวไม้ใจกลางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ณ ขณะนี้มี ‘เรือนโคราช’ ขนานแท้อายุในราว 111 ปีที่สมบูรณ์ที่สุดเรือนหนึ่งซ่อนอยู่ จะพูดว่าซ่อนอยู่ก็คงไม่ใคร่ถูกต้องนัก เพราะความสง่างามแห่งจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษนั้นเปล่งแสงเจิดจรัสแม้ในยามพระอาทิตย์เที่ยงตรง ชนิดที่กาลเวลากว่าศตวรรษก็มิอาจแผ้วพานรังควาญได้ ความงามของเรือนแฝดแบบโคราชแท้ๆ แห่งนี้ส่งให้นักปราชญ์ชาวบ้านและศิลปินแห่งชาติ คุณลุงกำปั่น บ้านแท่น (กำปั่น นิธิวรไพบูรณ์) บรรจงประพันธ์ร้อยกรองเพื่อบรรยายถึงสถาปัตยกรรมชั้นดีเรือนนี้กันเลยทีเดียว ความว่า … “จะต้องมีดีอะไรเหลือไว้บ้าง ใช่มุ่งสร้างของใหม่ใหญ่เลิศหรู ต้องทิ้งรากเหง้าไว้ให้คนดู จะได้รู้ปู่ย่ามาอย่างไร ในท่ามกลางระหว่างตึกลึกลึกสุด ยังมีจุดเล็กเล็กเด็กสงสัย ไถ่ถามทักหลักฐานว่าบ้านใคร ด้วยเหตุใดจึงอยู่คู่ราชภัฏ เมื่อดาวพรมห่มฟ้าระย้าย้อย บ้านหลังน้อยเย็นเฉียบเงียบสงัด ที่สร้างไว้ให้เห็นเป็นเด่นชัด เกียรติประวัติศิษย์เก่าเราต้องทำ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้รำลึก ความรู้สึกบ่งบอกเพื่อตอกย้ำ เรือนโคราชประกาศกฎให้จดจำ วัฒนธรรมที่อาศัยของใจคน จะไม่มีที่ไหนให้ศึกษา ห้องเคหาโบราณกาลก่อนหน นักปรุงเรือนเคลื่อนแบบไว้แยบยล เพราะทานทนฟ้าอากาศอาจแปรปรวน เคยอยู่อย่างน้อยน้อยนับร้อยปี นอกชานมีรับลมเหมาะสมส่วน คนจึงอยู่อายุยืนชื่นเชิญชวน ไม่ค่อยด่วนด่าวดิ้นยากสิ้นใจ เราจึงสร้างหัวใจให้ราชภัฏ ถึงยืนหยัดในระหว่างกลางตึกใหญ่ นี้คือจิตวิญญาณอันยาวไกล ชีพบรรลัยเรือนยังอยู่คู่ (โลกา)” อย่างไรก็ตาม เรือนโคราชแห่งนี้ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ เรือนพ่อคง ไม่ได้ตั้งอยู่ที่นี่แต่เดิม (พื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมเคยเป็นบริเวณบ้านพักผู้บริหารของโรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา – พัฒนาเป็นสถาบันราชภัฏฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาตามลำดับ) แต่เคยตั้งอยู่ ณ บ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา แต่ถูกรื้อถอน ขนย้าย และปรุงขึ้นมาใหม่ โดยความร่วมมือร่วมใจกันของ ศิษย์เก่าลูกเขียวเหลืองจากทุ่งตะโกราย นำโดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ ศิษย์เก่าโรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมาหลักสูตร ป.ป.รุ่นหนึ่ง และอาจารย์วิทยาลัยครูนครราสีมา และ ผศ.นฤมล ปิยวิทย์ ศิษย์เก่า ป.กศ.รุ่นเก้า อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีผู้ชะลอเรือนคือ ดร.ดุลย์พิชัย โกมลวานิช (อันจะกล่าวถึงทั้งหมดในตอนต่อๆ ไป) ประวัติพ่อคงและเรือนโคราช | แต่ก่อนที่เราจะเล่าไปถึงไหนต่อไหน เราควรทำความรู้จักกับเจ้าของเรือนตัวจริงกันก่อนดีกว่า (ข้อมูลนี้ไม่ได้สืบหาเองแต่อย่างใด แต่ได้รับไม้ต่อจาก ผศ.นฤมล ปิยวิทย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อันเป็นผู้สัมภาษณ์และเรียบเรียง – ขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี่ด้วยครับ) หลายคนคงคิดเหมือนอย่างที่ผมคิดในชั้นแรกว่า ชื่อเรือนพ่อคงนั้นคงได้มาจากสถานที่ตั้งของเรือนแห่งนี้ นั่นก็คือตำบลเมืองคง อำเภอคงกันใช่ไหม ความจริงก็อาจจะมีส่วนที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเรือนแห่งนี้เป็นเรือนของผู้ชายที่มีชื่อว่า ‘คง’ จริงๆ พ่อคง นั้นเกิดที่บ้านหนองนา ตำบลพลสงคราม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อประมาณ พ.ศ.2420 โดยสมรสกับ แม่พุ่ม ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน เมื่อ พ.ศ.2440 มีบุตร – ธิดารวม 8 คน เมื่อแต่งงานได้ 5 ปี พ่อคงก็พาครอบครัว คือภรรยาและลูกๆ (ขณะนั้นมีด้วยกัน 2 คน) พร้อมด้วยญาติมิตรเดินทางหาหลักแหล่งทำกินแห่งใหม่ โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะ กระทั่งเดินทางมาถึงบ้านตะคร้อ (ปัจจุบันคือบ้านตะคร้อ ตำบลเมืองคง อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา) พบทำเลที่เหมาะสมแก่การตั้งรกรากทำมาหากิน มีป่าโคกหลวงที่มีสัตว์นานาชนิดและพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำนา จึงหยุดปักหลักหักร้างถางพงทำไรทำนาและปลูกเรือนถาวร โดยช่างที่ปรุงเรือนแห่งนี้นั้นมีชื่อว่า พิมพ์ เป็นคนที่อพยพมาด้วยกันกับพ่อคงจากบ้านหนองนา อนึ่ง การปรุงเรือนจะเริ่มจากการไปคัดเลือกไม้จากป่าโคกหลวง โดยช่างปรุงเรือนจะคัดเลือกไม้มงคลในป่าตามคติของการสร้างเรือน ทั้งชนิดของไม้ อายุไม้ ขนาดและความสูงของไม้ ลักษณะไม้ (ไม่โค้งไม่งอ ไม่มีตาไม้) และขณะโค่นไม่มีเสียงอัปมงคล (เสียงร้องโอดโอยจากต้นไม้นั้น) อยู่มาสักพัก พ่อคงก็ได้รับสมญานามจากผู้คนทั่วไปว่า ตาคงเศรษฐี เพราะความที่เป็นชาวนามีที่นามากจากการสร้างนาด้วยสองมือ (เมื่อมีที่นามากก็ทำนาได้ข้าวมาก) นอกจากจะมีที่นามากจากการพลิกฟื้นผืนดินธรรมดาให้เป็นนาข้าวแล้ว พ่อคงยังได้ชื่อว่าเป็นคนขยันมาก ความขยันของพ่อคงนี่เองที่เป็นที่เลื่องลืออีกเช่นกัน เล่ากันว่าในขณะที่ฝนไม่ตกไถนาไม่ได้ ชาวบ้านคนอื่นๆ ต่างถอดใจนอนอยู่เรือนรอน้ำฝน แต่พ่อคงจะพาลูกๆ ขุดดินเอาเมล็ดข้าวเปลือกหยอดไว้ล่วงหน้า เผื่อที่ว่าฝนตกเมื่อไรก็งอกเมื่อนั้น ด้วยเหตุที่ขยันอยู่เป็นนิตย์นั่นเอง จึงทำให้พ่อคงทำนาได้ข้าวล้นยุ้งทุกปี (ยุ้งข้าวของพ่อคงมีขนาดใหญ่มาก มีเสาถึง 12 ต้น) ทั้งนี้ ด้วยความที่พ่อคงทำงานหนักมาตลอดชีวิตตั้งแต่วัยหนุ่มเพื่อลงหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงนาเป็นมรดกแก่ลูกหลาน ทำให้พ่อคงล้มป่วยและเสียชีวิตที่เรือนหลังนี้เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2482 ในขณะที่มีอายุ 61 ปี จบไม่จาก | เรื่องของเรือนโคราชยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะถ้าเล่าต่อไปคงยาวพิลึกจนหลายคนนึกหวาดไม่กล้าอ่านกัน ผมขอตัดแบ่งออกเป็นตอนๆ นะครับเพื่ออรรถรสในการอ่าน ตอนต่อไปขอเสนอตอน กว่าจะเป็นเรือนโคราช โปรดติดตามครับ ก่อนจากผมขอฝากคำกล่าวเป็นน้ำจิ้มสำหรับตอนต่อไปโดย ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ หนึ่งในแกนนำผู้ดำเนินการฯ ความว่า “จากเรือนที่มั่นคง แข็งแรง สง่างาม ครบเครื่อง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของยุคสมัยของชุมชน เรือนโคราชเรือนพ่อคงหลังนี้ได้ดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแห่งกาลเวลา ตามสภาพของชุมชนและสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งทายาทที่รับช่วงในการดูแลและอยู่อาศัยต่อเนื่องมากว่า 4 รุ่น อีกทั้งสภาพของตัวบ้านเองก็เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ชุมชนโดยรอบก็เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจที่กระแสวัตถุนิยม …พัดโหมรุนแรงนัก ที่เคยคึกคักสงบเย็นก็ดูเงียบเหงาทรุดโทรม เราศิษย์เก่า โรงเรียนฝึกหัดครูนครราชสีมา วิทยาลัยครูนครราชสีมา สถาบันราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้ร่วมแรงร่วมใจบริจาคเงินเป็นกองทุนยกบ้านหลังนี้ ให้เกิดใหม่ ปรุงใหม่ ให้อยู่ในสภาพเดิมที่มั่นคงแข็งแรง สง่างาม และภูมิฐานเหมือนเดิมให้มากที่สุด เพื่อให้ยังคงสามารถแสดงคุณค่าของภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมเมื่อ 111 ปี มาแล้ว ได้แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานทางศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันอุดมของสังคมท้องถิ่น โดยตั้งไว้ ณ สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ ทรงคุณค่ามายาวนาน มีชื่อว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา อยู่ ณ บริเวณที่เป็นบ้านพักผู้บริหารหลายท่าน ตั้งแต่ท่านอาจารย์อรรจน์ วิวัฒน์ สุนทรพงศ์ ท่านอาจารย์สุรินทร์ สรสิริ ท่านอาจารย์สนอง สิงหพันธุ์ เป็นต้น ณ ที่ตั้งใหม่นี้ห่างจากที่ตั้งเดิมกว่า ๑๒๐ กิโลเมตร อยู่ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงที่มีภารกิจเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เรือนโคราชที่เรียกขานว่าเรือนพ่อคงหลังนี้ ก็จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมโคราชที่มีคุณค่าล้ำลึกยิ่งนัก ไม่ว่าจะมองแง่มุมใด ทั้งอดีต ปัจจุบัน และชี้นำถึงอนาคต อยู่คู่กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาคู่กับเมืองโคราช ต่อไปอีกนานเท่านานอย่างมีคุณค่า และจะกลายเป็นสิ่งที่มีค่าอีกชิ้นหนึ่งที่จะเป็นหน้าตาของเมืองโคราช” ผู้เขียน : พลเชษฐ์ พันธ์พิทักษ์ ถ่ายภาพ : NaBruce @ 9Thanwa Photography | PoppyLovePixs Special Thanks : ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ | ผศ.นฤมล ปิยวิทย์ | ดร.ดุลย์พิชัย โกมลวานิช | ผศ.ดร.ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ และ คุณชุตินันท์ ทองคำ | พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ภายใต้การบริหารของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
บุญใหญ่ ครอบครัวสุวรรณชาติ บริจาคที่ดินให้ รพ.มหาราช ที่ดินเนื้อที่ 237.4 ตารางวา พื้นที่ติดกับตลาดสุรนารี
ปีนี้เตรียมตัวโยก neon space Yappah Fest #4 เทศกาลดนตรีใหญ่กลางเมืองโคราช วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ Mayfair Market