batch_IMG_8539
ผศ.นิคม บุญญานุสิทธ์ิ

 

นครราชสีมา จังหวัดที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนับวันยิ่งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเศรษฐกิจ สภาพบ้านเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คน หรือที่เราเข้าใจโดยทั่วกันก็คือ ‘บ้านเมืองเจริญขึ้น’ นั่นเอง … เมื่อพูดถึงความเจริญของบ้านเมืองใครต่อใครก็คงนึกฝันเอาว่าโคราชบ้านเราจะต้องเป็นเมืองที่น่าอยู่ แต่สำหรับ ผศ.นิคม บุญญานุสิทธิ์ แล้ว ‘เมืองน่าอยู่’ ไม่ได้มีแค่ความเจริญเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ตัวเรา 

ปัจจุบัน อาจารย์นิคมดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาการจัดการผังเมือง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ซึ่งความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์นอกจากจะถูกถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าแล้ว อาจารย์ยังนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาต่อยอดเป็น ‘สถาบันพัฒนาเมือง’ สถาบันที่จะขันอาสาเป็นอีกหนึ่งแรงในการเดินหน้าให้เกิดการพัฒนาเมือง (ให้น่าอยู่)

//////////////////////////////////////////////////////////////////////

batch_IMG_8219

ทำไมอาจารย์ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “เมือง”

“เพราะว่ามันเป็นมรดกเพียงสิ่งเดียวที่ยั่งยืนที่สุดที่เราจะให้กับลูกหลานได้ ตัวอย่างเช่นคุณใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อที่จะสร้างฐานะ คุณเรียนจนจบ คุณมีงานทำ เงินเดือนเดือนละสามสี่แสน คุณมีครอบครัว คุณมีบ้านหลังใหญ่ๆ แต่ข้างนอกบ้านนั้นคนอื่นๆ รอบๆ ตัวเราเขามีเหมือนกับเราไหม นอกรั้วบ้านของเราอาจจะยังมีการจี้ปล้น ซึ่งเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าวันหนึ่งถ้าเราเปิดประตูบ้านทิ้งไว้แล้วลูกเราออกไปจะไม่โดนดักจี้ ไม่โดนทำร้าย อะไรคือสิ่งที่จะการันตีได้ว่าทุกๆ อย่างที่เราหามาทั้งชีวิตจะทำให้ลูกเราปลอดภัย แต่ถ้าหากเรามองในมุมกลับ ปรับวิธีคิดสักหน่อย เราหาเงินมาแค่พอใช้ไม่ต้องมากมายจนเกินไป และหันมาแบ่งเวลาทำประโยชน์ให้กับสังคมให้กับบ้านเมืองบ้าง เพื่อสร้างสังคมดีๆ สร้างสิ่งแวดล้อมๆ ไว้ให้ลูกหลานเรา”

ที่บอกว่า “พัฒนาเมือง” โดยส่วนตัวแล้ว อาจารย์คิดว่าเมืองโคราชต้องการการพัฒนาอะไรเป็นอย่างแรก

“คือในความเป็นเมืองมันจะมีเกณฑ์ มีวัฒนธรรมของมันที่จะทำให้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และสิ่งที่จะทำให้เมืองมีการพัฒนาไปได้ในหลายๆ ด้านมันต้องเริ่มที่ตัวเรา เริ่มจากจิตสำนึกของเรา  เราต้องคิดถึงส่วนรวมก่อนที่จะคิดถึงตัวเอง คือเราต้องมีจิตสาธารณะ เช่นที่ต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ เขาจะมีวัฒนธรรมความเป็นเมืองที่สูงและมีมาช้านาน ผู้คนในบ้านเมืองเขาจะคิดถึงกลุ่มคิดถึงส่วนรวมมากกว่าเรื่องส่วนตัว แต่ของเราในประเทศไทยของเราเกิดมาแบบชุมชน เราไม่เคยเจอเมืองใหญ่ แล้วพอเมืองมันเกิดทีหลังทำให้วัฒนธรรมการเป็นคนเมืองของเรายังไม่แน่น คนส่วนใหญ่จะคิดถึงตัวเองก่อนที่จะคิดถึงคนอื่น สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่เราจะต้องปลูกฝัง ว่าคุณจะต้องคิดถึงส่วนรวมก่อนที่คุณจะคิดถึงตัวเองเสมอ อย่างเช่น ถ้าคุณบอกว่าเมืองโคราชขยะเยอะ แต่คุณก็ยังทิ้งขยะ แบบนี้มันก็ไม่มีการพัฒนาต่อ แต่ถ้าคุณบอกว่าเมืองโคราชขยะเยอะ พอคุณเดินไปเห็นขยะคุณก็เก็บมาใส่ถังขยะ ทุกอย่างต้องเริ่มที่ตัวเรา ค่านิยมพื้นฐานของเรายังไม่เป็นค่านิยมพื้นฐานของเมืองที่มีการพัฒนา คือเราไม่มีจิตสาธารณะ”

แล้วอาจารย์คิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองโคราชเกิดการพัฒนา

“ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาก็คือจิตสาธารณะของเรา การสร้างจิตสาธารณะที่ควรจะปลูกฝังให้ลูกหลานตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้เขาเรียนรู้และนำมาใช้ได้อย่างเต็มใจ”

จากที่ได้สัมผัสมาอะไรคืออุปสรรคในการพัฒนาเมืองโคราช แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะขจัดอุปสรรคนั้นไปได้

“อุปสรรคที่ใหญ่ๆ เลยของการพัฒนาเมืองโคราช ก็คือความคิดของเรายังก้าวตามไม่ทันเมือง คือเมืองเป็นเรื่องของคนหลายๆ ส่วนที่ต้องร่วมมือกันในการพัฒนา ไม่ใช่ว่าฝั่งซ้ายจะเอาแต่ฝั่งขวาไม่เอา ถ้าเป็นแบบนี้การพัฒนาจะไม่เกิดขึ้น ทุกๆ อย่างจะต้องปรับเข้าหากัน ต้องหาตรงกลางของฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่จะรับได้ เมื่อเกิดการยอมรับในความคิดของคนอื่นๆ การพัฒนาก็จะตามมา”

batch_IMG_8257

อะไรคือสิ่งที่อาจารย์คาดหวังอยากจะเห็นมากที่สุดสำหรับการพัฒนาเมืองโคราช

“อยากเห็นว่าทำยังไงโคราชถึงจะกลายเป็นเมืองที่สร้างสรรค์ เพราะโคราชเป็นโมเดลที่มีเอกลักษณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อยู่ระหว่างความเป็นไทยและความเป็นลาว วัฒนธรรมของคนโคราชจะเด่นชัด โคราชมีอะไรที่เมืองอื่นไม่มีแต่เรามี เพราะถือว่าเป็นเมืองที่ยังไม่ถูกการพัฒนาทำลายลงมากเกินไป ในโคราชตัวเขตเมืองเก่าจริงๆ ก็ยังมีให้เห็นอยู่เยอะแยะ การที่สิ่งนี้ยังไม่ถูกทำลายจะเป็นเชื้อให้เราสามารถนำไปพัฒนาด้านอื่นได้อีก”

อยากทราบว่าสถาบันพัฒนาเมืองเกิดขึ้นได้อย่างไร

“เกิดขึ้นจากสองทาง ทางแรกเลยเกิดขึ้นจากกลุ่มเพื่อนที่เป็นสถาปนิก เป็นนักผังเมือง ที่ใช้เวลาจากวันว่างๆ มารวมกลุ่มนั่งคุยกันว่าเมืองเรายังมีปัญหาอะไรอีก เมืองเรายังขาดอะไรอีก ทำให้เกิดเป็นกลุ่มขึ้นมาเรียกว่า กลุ่มฮีโร่ ทางที่สองเกิดจากการที่เราได้ไปเจอโมเดลของเชียงใหม่ ที่ใช้คำว่าสถาบันพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ที่มีมูลนิธิรองรับ แล้วช่วงเวลานั้นประจวบเหมาะกับที่แม่ยายผมท่านอยากตั้งมูลนิธิเพื่อเป็นเกียรติให้แก่คุณแม่ของท่าน ผมก็เลยอาสาก่อตั้งมูลนิธิให้ แล้วเอาสถาบันพัฒนาเมืองมาเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ ความเป็นทางการของสถาบันพัฒนาเมืองในวันนี้ก็คือ มูลนิธิหม่อมหลวงละมุล เสนีวงศ์  โดยมีองค์กรสถาบันพัฒนาเมืองนครราชสีมาเป็นองค์กรอยู่ภายใต้การกำกับของกรรมการมูลนิธิหม่อมหลวงละมุล เสนีวงศ์”

อะไรคือเป้าหมายหลักของสถาบันพัฒนาเมือง

“เป้าหมายหลักของสถาบันพัฒนาเมือง คือเป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่องการผังเมือง เพื่อทำให้คนเข้าใจเมืองของตัวเองและอยากที่จะพัฒนาเมืองของตัวเอง ที่รวมเอาทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวกับเมืองเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนพิการ หรือเรื่องการอนุรักษ์อาคารเก่า เรื่องพวกนี้ก็จะเป็นเรื่องที่สถาบันพัฒนาเมืองนำมาเป็นประเด็นในการให้ความรู้และปรับปรุงต่อไป”

แล้วสถาบันพัฒนาเมืองจะเข้ามาช่วยใครและช่วยในด้านใดบ้าง

“หน่วยงานที่เราช่วยเหลือหลักๆ ก็คือหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับผังเมือง ก็จะมีโยธาและผังเมือง ของเทศบาลบ้าง อบต.บ้าง หน่วยงานเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับงานผังเมืองแต่ยังขาดบุคลากรในการดำเนินงาน แล้วที่นี้พอจะต้องวางผังเมืองรวมของจังหวัดก็จะเกิดปัญหา อย่างที่อำเภอบัวใหญ่ ที่ต้องการจะวางผังเมืองรวม จะปรับปรุงผังเมืองรวมให้ดีขึ้นน่าอยู่ขึ้น แต่มีงบประมาณไม่สูงมาก ถ้าต้องไปจ้างบริษัทเอกชนอาจจะต้องใช้งบที่สูงเกินไป ทางทีมงานของสถาบันพัฒนาเมืองก็ยื่นมือเข้าไปช่วย เข้าไปวางกระบวนการต่างๆ ให้ ทำให้เกิดการปรับปรุงผังเมืองรวมของอำเภอบัวใหญ่ ซึ่งตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการขั้นตอนการประกาศบังคับใช้แล้ว”

ปัจจุบันนี้ทางสถาบันพัฒนาเมืองมีงานหรือโครงการอะไรบ้าง

ตอนนี่ที่เป็นชิ้นเป็นอันที่จบลงไปแล้วก็คือการวางผังเมืองของอำเภอบัวใหญ่ สถาบันพัฒนาเมืองจะเป็นเหมือนองค์กรที่เป็นออแกไนซ์ ที่จะคอยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น เทศบาล หอการค้า เพื่อให้เกิดโครงการต่างๆ และอีกโครงการหนึ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ก็คือ จอมพลถนนประวัติศาสตร์ ที่ทางสถาบันได้ร่วมมือกับทางเทศบาล หอการค้า กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน และหน่วยงานต่างๆ และอีกหนึ่งโครงการที่สถาบันพัฒนาเมืองพยายามผลักดันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นสถาบันพัฒนาเมือง ก็คือเราอยากให้โคราชเป็นเมืองจักรยาน ซึ่งอันนี้คือเมนหลักของเราเลย”

จากการทำงานของสถาบันพัฒนาเมืองที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรบ้าง

“ปัญหาและอุปสรรคยังไม่มี เพราะเรายังไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นทางการร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเป็นแค่กลุ่มผู้หวังดีต่อเมือง ดังนั้นที่เราทำงานผ่านๆ มาเลยยังไม่ค่อยมีอุปสรรคอะไร เพราะเราทำงานในลักษณะเป็นผู้กระตุ้นบ้าง เป็นผู้ให้ข้อมูลบ้าง ผู้ที่เข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับเขาบ้าง หรือเข้าไปช่วยในส่วนที่เขายังไม่มีหรือยังขาด เลยทำให้เราไม่ค่อยมีอุปสรรค เพราะเหมือนเขาอยากได้อะไรแล้วเราค่อยเข้าไปช่วยเหลือเขา”

แล้วประชาชนอย่างเราๆ จะมีส่วนช่วยให้เมืองน่าอยู่ได้อย่างไร

“ทุกคนสามารถทำให้เมืองน่าอยู่ได้ อย่างเช่นถ้าคุณไม่อยากให้เมืองมีขยะคุณก็อย่าทิ้งขยะ ถ้าคุณอยากให้เมืองเป็นเมืองจักรยานคุณก็หยิบจักรยานออกมาขี่ ถ้าคุณรอให้มีทางจักรยานคุณก็จะไม่ได้ขี่จักรยานสักที เพียงแค่คุณลองหยิบจักรยานออกมาขี่ต่อให้ทางมันจะลำบาก แต่ถ้ามีคนขี่จักรยานสักร้อยคนพันคน ทางจักรยานอาจจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ ผมหวังว่าต่อไปคนจะมองถึงผลประโยชน์ของเมืองมากกว่าของตน มองถึงความสุขที่ได้อยู่ในเมืองกันมากกว่าความสุขที่ได้มีบ้านหลังใหญ่ๆ”

ทีนี้อยากให้อาจารย์พูดถึงโครงการ ‘จอมพลถนนประวัติศาสตร์’ บ้างว่าเป็นมาอย่างไร 

คือตอนนี้กำลังจะมีผังเมืองรวมของจังหวัดนครราชสีมาซึ่งคาดว่าไม่เกิน 1 ปีนี้จะประกาศออกมา จะมีการเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยในบริเวณเขตคูเมืองนครราชสีมาจากเดิมที่เป็นพื้นที่สีแดงที่สามารถสร้างอาคารพานิชยกรรมสูงได้อย่างไม่จำกัดชั้น แต่จะสร้างสูงได้มากขนาดไหนต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายอาคารอีกที ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่เป็นพื้นที่สีแดง พื้นที่ในส่วนนี้ไม่มีการพัฒนาอะไรเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วพื้นที่ในเขตคูเมืองทั้งหมดมันเป็นที่แปลงเล็กๆ ที่หน้าแคบแต่ยาว บ้างบ้านยาวเกือบร้อยเมตร แล้วเจ้าของที่ดินก็เป็นคนที่มีฐานะในระดับหนึ่ง เป็นคนเก่าคนแก่ บางคนเขาก็ไม่อยากขาย ที่นี้พอบอกว่าเป็นสีแดงสร้างได้ไม่จำกัด แต่พอไปเช็คแปลงที่ดินดูเขาออกกฎหมายอาคารแล้ว มันขึ้นอาคารสูงๆ ไม่ได้เพราะความจำกัดของพื้นที่ ทำให้ไม่มีที่เหลือสำหรับสาธารณะอาคารสูงๆ ในเขตนี้ ในเขตคูเมืองมันถึงนิ่ง ก็จึงมีนักผังเมืองและนักวิชาการทั้งหลายบอกว่าให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลได้ไหม ก็คือที่ดินที่มีการรักษารูปแบบทางด้านสถาปัตยกรรม สร้างสูงได้ไม่เกิน 15 เมตร แต่รูปแบบต้องเป็นรูปแบบเดียวกัน แล้วการที่เขาสร้างได้ไม่เกิน 15 เมตรมันก็ทำให้รับกันกับพื้นที่ที่เขามีพอดี พอกฎหมายผังเมืองรวมตัวนี้ออกมามันก็จะพอดีกับพรบ.เขตเมืองเก่าของสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรงกันกับที่ผังเมืองรวมกำลังจะออกพรบ.เขตเมืองเก่า ถ้าหากว่าเขารับรองเมื่อไรมันจะมีผลต่อการของบประมาณในแต่ละปี จะมีงบประมาณเข้ามาเพื่อให้พัฒนาเขตเมืองเก่า อย่างที่ จังหวัดน่าน พอประกาศเป็นเขตเมืองเก่าเขาก็ได้งบมาเอาสายไฟลงดินเลย อาจจะเป็นหกสิบล้านหรือแปดสิบล้านต่อปี ผ่านคณะกรรมการเขตเมืองเก่า หมายความว่าอีกไม่เกินสามปีข้างหน้าที่โคราชก็จะมีกรรมการเหล่านี้เกิดขึ้นมาในเขตเมืองเก่า ที่นี้ในเขตคูเมืองทั้งหมดในเขตเมืองเก่า ถ้าเปรียบเมืองเก่าของโคราชเป็นแหวนวงหนึ่ง ถนนจอมพลก็จะเป็นหัวแหวนที่ยาวไปถึงร้านยาจี่อังตึ๊ง และอีกอย่างถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งต้นของหลายตระกูล เขาจะเรียกว่าปู่สร้าง พ่อพัฒนา ลูกทำลาย แล้วรุ่นนี้ก็มาถึงรุ่นลูก รุ่นที่สาม พวกรุ่นที่สามเขาจะจำได้ว่าปู่เคยทำ เคยเห็นพ่อลงมือ แล้วรุ่นที่สามก็จะมีอายุในช่วงประมาณ 60 ปี คือถ้ารุ่นนี้ไม่มีการบอกเล่ากันต่อ มันก็จะหายไป ส่วนรุ่นที่สี่อายุก็จะประมาณสามสิบกว่าแล้ว บางคนแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็แยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น บางคนก็ไม่ทำงานอยู่ต่างที่ต่างถิ่น แล้วคนที่เฝ้าร้านคือใคร ก็คือรุ่นที่สามที่นั่งเฝ้าบ้าน ที่นี่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยจนรุ่นที่สามหายไป รุ่นลูกรุ่นหลานเขาก็อาจจะขายพื้นที่เขา แล้วประวัติศาสตร์ตรงนี้ก็จะหายไปเลย จึงเป็นที่มาว่าเราต้องการฟื้นประวัติศาสตร์กลับมาโดยทางกายภาพ และเพื่อช่วยหนุนให้เขามีชีวิตชีวา และอันที่สามคือเรากลับมาสร้างแหล่งเศรษฐกิจให้กลับมา เพราะเรามองว่าถ้าห้างฯใหญ่ๆ ขึ้นมา ถนนจอมพลน่าจะมีอะไรที่สู้กับห้างฯต่างๆ ได้ เราจะดึงอะไรที่ถนนจอมพลมีแต่ห้างฯใหญ่ๆ ไม่มี ห้างฯใหญ่ๆ ไม่มีถนนอายุสามร้อยปีต่อให้มีเงินมากขนาดไหนก็หาซื้อไม่ได้ แต่จอมพลไม่ต้องสร้างเพราะมีมาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่มีใครมาพรีเซนต์ว่านี่คือถนนที่มีอายุ 300 ปี คือเรามีหลากหลายเรื่องราวที่เราสามารถนำมาอวดกันได้ เราจึงเริ่มมาทำที่ถนนจอมพล ถ้าถนนจอมพลสำเร็จมันจะขยายสเกลออกไปให้คนที่อยู่รอบๆ คูเมืองอยากจะทำบ้าง อยากจะให้บ้านเราเป็นแบบนี้บ้าง”

จนถึงวันนี้โครงการนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ความคืบหน้าของวันนี้ก็คือบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายเขาเริ่มมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขามี ซึ่งจากเดิมเขาไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม และมันจะมีคุณค่าอย่างไร เขาอยู่มานานจนกลายเป็นเรื่องปกติ พื้นที่ส่วนนี้มันถูกรักษาเอาไว้ด้วยกาลเวลา พอคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเขาก็จะมองว่า เอ๊ะ มีของอย่างนี้ด้วยหรอก อย่างเช่นซอยสำราญจิตที่ถือว่าเป็นตรอกสุดท้ายของโคราชที่ยังคงความเก่าไว้ได้ ด้วยกำแพงข้างหนึ่งที่เป็นอิฐเก่า และอีกข้างหนึ่งที่เป็นรั้วไม้ พอคนรุ่นใหม่มาเห็นก็จะถ่ายรูปและแชร์ต่อๆ กันไป แต่คนที่อยู่ประจำก็จะเกิดความชินตาเพราะเดินมาตั้งแต่เด็ก ทำให้มองว่าไม่เห็นจะมีอะไร มีแต่รั้วเก่าๆ แต่พอเราพยายามมาปรับความเข้าใจให้ตรงกัน ความคืบหน้าของเราตอนนี้ก็คือคนในพื้นที่ก็จะเริ่มรู้ถึงคุณค่ามากขึ้น แต่เราหวังว่าจะให้คนในพื้นที่เกิดการรวมกลุ่มที่แข็งแรงกระทั่งบอกว่าเขาอยากจะทำอะไรและสามารถวางแผนเองได้ แล้วให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาเสริมทัพ เมื่อนั้นความสำเร็จมันถึงจะร้อยเปอร์เซ็นต์”

batch_IMG_8466

อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากโครงการนี้บรรลุผลสำเร็จ

มันจะเป็นตัวอย่างการพัฒนาในรูปแบบที่ใหม่มากสำหรับเมืองโคราช คือการพัฒนาที่เจ้าของพื้นที่เป็นผู้บอกเองว่าเขาอยากเป็นอะไร ไม่ใช่เทศบาลเป็นคนไปบอก ที่นี้เจ้าของพื้นที่จะบอกได้ว่าเขาอยากเป็นอะไร เขาก็ต้องรู้ก่อนว่ารากที่มาของเขาคืออะไร เขารู้จักคุณค่าของสิ่งที่เขามีแล้วเขาก็บอกออกมา ซึ่งในหลายๆ พื้นที่มันไม่มีแบบนี้จึงถือว่าเป็นของใหม่ อย่างที่สอง สิ่งที่เราคาดหวังก็คือคนที่อยู่ตรงนี้เขาจะมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาเป็นมากขึ้น เขามีความสุขที่จะได้อยู่พื้นที่ตรงนี้ อย่างที่สาม พื้นที่ตรงนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาให้พื้นที่อื่นๆ อีกหลายที่ และปัญหาอีกอย่างหนึ่งของการพัฒนาประวัติศาสตร์อย่างอัมพวา อย่างสามชุก ลองไปถามดูว่าคนที่มาขายของเป็นใคร ปรากฏว่าเขาไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่เป็นคนจากข้างนอก จากกรุงเทพฯ เข้ามาเช่าพื้นที่ขาย เราไม่ต้องการภาพอย่างนั้น เราต้องการภาพถนนจอมพลให้เหมือนเป็นประวัติศาสตร์ของโคราช คนมาไหว้ย่าโมแล้วเดินมาดูถนนจอมพล เพื่อที่เขาจะได้รู้จักกับโคราชมากขึ้น แต่คนที่อยู่บนถนนเส้นนั้นก็คือคนเดิม เจ้าเดิมนั่นจึงเป็นสิ่งที่เราพยายามบอกคนในพื้นที่ว่าเราจะเน้นที่คุณภาพชีวิตและความภาคภูมิใจของเขาก่อนเป็นอันดับแรก เราไม่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ เราจะเน้นให้คนเก่าๆ เปิดร้านคงไว้ แต่มีผู้คนเข้ามามากขึ้นมีการพูดคุยกันมากขึ้น”


Comments are closed.

Check Also

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2

เปิดทางเชื่อม มอเตอร์เวย์ M6 – ถนนสุรนารี 2 ตั้งแ … …