“หอการค้า–สภาอุตฯ” ดับเครื่องชนรุกฆาตประเด็นร้อนแรงวิกฤติไม่ยกระดับทางรถไฟผ่าเมือง “โคราชเมืองอกแตกจริง” เผยชาวโคราชไม่รู้ปัญหาจากการสร้างทางรถไฟรางคู่มาพร้อมกำแพงกั้นสูง 2 เมตรว่ามีผลกระทบไปชั่วชีวิต โปรเจ็กต์รถไฟทางคู่สายขอนแก่น–สถานีจิระ รูปแบบสร้างทางไม่ยกสูงเหมือน“ขอนแก่น–อุดร” ล่าสุด “หอการค้าฯและสภาอุตสาหกรรม” ชี้เปรี้ยงทางรถไฟผ่าเมืองอนาคตวิกฤติโคราชจะเป็นเมืองอกแตก ไม่เป็นผลดีต่อวิถีการใช้ชีวิตชุมชนใหญ่ เดินหน้ายื่นหนังสือถึง “แม่ทัพภาคที่2 และผู้ว่าฯโคราช” แล้วและเห็นด้วยต้องยกระดับ ด้านการรถไฟฯยันโคราชยกสูงไม่ได้มีหลายปัจจัยไม่เอื้อ ส่วน“เทศบาลฯ” ทำแผนที่ 3 มิติเห็นภาพชัดอนาคตมหาวิบัติผ่าเมืองจริง “หอการค้า–สภาอุตฯ”ยื่นค้านกับแม่ทัพฯ เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2560 นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมรองปธ.หอการค้าฯ และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปยื่นหนังสือถึง พลโท วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 ณ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารีเรื่องทางรถไฟรางคู่ผ่านตัวเมืองโคราชต้องยกระดับ “หอการค้า”เพิ่งรู้ทางรถไฟผ่านพื้นดิน นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “การที่หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมฯได้มาพบ พลโท วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 เนื่องจากการรถไฟอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ก็เป็นเรื่องดีของจังหวัดนครราชสีมา แต่เนื่องจากว่าเราซึ่งเป็นเจ้าของจังหวัดไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่อง การสร้างทางรถไฟรางคู่ครั้งนี้ ในเรื่องจุดจอด หรือการสร้างทางรถไฟจะยกระดับหรือไม่ยกระดับ เราพึ่งมาได้ข้อมูลว่าทางรถไฟรางคู่ที่จะผ่านตัวเมืองโคราชเป็นวิ่งทางพื้นดิน ซึ่งเรามองและวิเคราะห์ดูแล้วจะกระทบกับเศรษฐกิจในโคราชอย่างมากมาย” กำแพงสูง 2 เมตรกั้นทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่ง “และที่เป็นประเด็นสำคัญคือเส้นทางที่ทางรถไฟรางคู่ผ่านเข้าเมือง จะต้องทำกำแพงสูง 2 เมตรกั้นทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนวทั้งหมด ซึ่งจะเป็นกำแพงที่ปิดกั้นการไปมาหาสู่กันอย่างมากของคนในเมืองโคราช จะแตกต่างจากการใช้ชีวิตในปัจจุบัน แค่รอสัญญาณเวลารถไฟวิ่งผ่านเท่านั้นเอง ซึ่งหากมีการสร้างทางรถไฟรางคู่ ชีวิตการเดินทางเราต้องใช้สะพานข้ามเกือกม้าแทน ทำให้การใช้ชีวิตปกติเปลี่ยนไปรวมถึงการใช้พลังงานน้ำมันที่สิ้นเปลืองมากขึ้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆมีผลมาก” วิถีชีวิตชาวบ้านต้องใช้สะพานเกือกม้า “ต่อไปคนในเมืองจะข้ามทางรถไฟมาโซนค่ายสุรนารี หนองไผ่ล้อม และจวนผู้ว่าฯก็จะยากขึ้นต้องขับรถอ้อม อย่างชาวบ้านที่ต้องใช้รถเข็น รถพ่วงออกไปขายของในเมืองจะต้องขึ้นสะพานเกือกม้าทั้งหมด ไม่ได้ข้ามทางรถไฟเหมือนเดิมแล้ว ถามว่าจะเกืดอะไรขึ้นกับการดำรงชีวิตประจำวันของเขา ไม่เดือดร้อนไปหมดหรือแล้วเราจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้ยังไง ไม่ใช่แค่เรื่องต้องการความเจริญ แต่เป็นการใช้ชีวิตไปจนชั่วชีวิตของเรา” ทางยกระดับได้ถนนเพิ่ม–ระบายน้ำได้ นายชัชวาล กล่าวอีกว่า “เรามองเห็นปัญหาแท้จริงว่าต้องยกระดับเท่านั้น จะทำให้เราได้ผลประโยชน์อย่างมาก อย่างเส้นทางด้านล่างของทางยกระดับเราจะทำเป็น 4 ช่องทางจราจรเพิ่มถนนใหม่มาอีก 1 เส้น และเรื่องการระบายน้ำก็จะสะดวกขึ้นเป็นท่อใหญ่ขนาด 2 คูณ 2 เมตรที่วางไว้จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีกำแพงเกิดขึ้นก็เหมือนจะทำให้เป็นเขื่อนกั้นให้น้ำอยู่โซนนี้เลยระบายไม่ได้” ถ้ารู้มีกำแพง 2 เมตรก็ค้านแต่แรก “เราไม่รู้เลยว่าทางรถไฟบนพื้นจะต้องมีกำแพงกั้นสูง 2 เมตรด้วยถ้ารู้แต่แรกเราคัดค้านแน่ พอมารู้ตอนนี้เราเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน จากนี้ไปโคราชจะเป็นเมืองที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว แทบจะเป็นเมืองคู่แฝดกับกรุงเทพฯโดยตรง ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ เราจะมาแก้ไขไม่ไหวเพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราทำตอนนี้มีการทบทวนแก้ไขแบบได้เชื่อว่าโคราชจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่” แม่ทัพภาคที่2 เห็นด้วยเป็นปัญหาจริง “คนโคราชไม่รู้เลยว่าการสร้างทางรถไฟรางคู่เป็นแบบไหน รู้แต่เพียงว่ามีรถไฟรางคู่มาแน่นอน จุดจอดอยู่ตรงไหนเราควรเอาเรื่องนี้มาคุยกันและวางแผนร่วมกันเพื่อรองรับในอนาคตรวมถึงระบบขนส่งมวลชนที่ต้องรองรับสอดคล้องไปด้วย ต้องได้รับความเห็นชอบที่ตรงกัน เราอยากเห็นการทบทวนใหม่เพราะเราเชื่อว่าขืนทำต่อไปประชาชนได้รับผลกระทบแน่นอน ถึงเวลาก่อสร้างก็จะมีปัญหากันอีก หากชาวบ้านรู้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็จะออกมาต่อต้านไม่ให้มีการก่อสร้าง ซึ่งทางแม่ทัพภาคที่2 ก็เห็นด้วยกับเรา” ค้านในฐานะประชาชนชาวโคราช “เราไม่ปฏิเสธว่าการสร้างสะพานเกือกม้าจะช่วยให้สัญจรไปได้ แต่มันยากขึ้นและสิ้นเปลืองพลังงาน ค่าน้ำมันที่ต้องขับวนแล้ววนอีก จากเดิมแค่ข้ามทางรถไฟต้องไปอ้อมขึ้นสะพานเกือกม้าอีกหลาย 100 เมตรปัญหารถติดจะตามมา และจะเป้นปัญหาของประชาชนระดับล่างอีกด้วย อย่ามองว่าที่ออกมาค้านจะทำให้โครงการรถไฟชะลอ เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เซ็นสัญญาหากทบทวนใหม่ก็ไม่ได้ล่าช้าลงเลย เป็นความเดือดร้อนจริงๆเราออกมาค้านในฐานะประชาชนชาวโคราชไม่ใช่โดยการเมือง” ผู้ว่าฯเห็นด้วยทางรถไฟต้องยกระดับ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา พร้อมรองปธ.หอการค้าฯ และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปยื่นหนังสือถึง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่อศน.โดยทางผู้ว่าฯวิเชียร กล่าวว่า “จังหวัดเองต้องรวบรวมข้อมูลจากพี่น้องชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่เห็นว่าทางรถไฟรางคู่น่าจะยกระดับเพื่อให้การจราจรในจังหวัดติดขัดอย่างมากให้ลดปัญหาน้อยลง ทางจังหวัดก็เห็นด้วยในเรื่องนี้” รวมข้อมูลเสนอรัฐมนตรีว่าการคมนาคม “การรถไฟก็มีเหตุผลที่จะให้รางรถไฟอยู่ระดับล่าง แต่ชาวโคราชก็มีเหตุผลที่จะให้ยกระดับไม่เช่นนั้นระยะยาวจะมีปัญหาการจราจรและมีปัญหาเรื่องความเจริญเติบโตของเมืองและกระทบกับระบบเศรษฐกิจของเมืองโคราชอย่างมาก เพราะว่ารถไฟที่วิ่งปัจจุบันในเขตตัวเมืองมีจุดตัดถึง 14 จุดหากมีการปิดทั้งหมดแล้วทำสะพานใหม่ไม่กี่จุดจะกระทบเศรษฐกิจทั้งหมดและหลังจากนี้เราจะรวบรวมปัญหาทั้งหมดเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการคมนาคมต่อไป” การรถไฟฯลงทุนเพิ่มครั้งเดียวจบ “ถ้าทางรถไฟยอมลงทุนเพิ่มอีกไม่มากเพื่อสร้างทางยกระดับรถไฟรางคู่ที่วิ่งอยู่ในเขตตัวเมืองโคราช ก็แค่ลงทุนครั้งเดียวก็จบและจะสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ทั้งหมด ส่วนที่การรถไฟออกมาบอกว่าโคราชยกระดับทางรถไฟไม่ได้ ตนมองว่าการรถไฟคงมองเรื่องวิศวกรรมการก่อสร้างอย่างเดียว แต่ที่เรารวบรวมข้อมูลเป็นปัญหาอื่นๆที่จะตามมา โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในเขตชุมชนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ถ้าเราเอาเหตุผลต่างๆไปให้การรถไฟเขาคงเข้าใจ และน่าจะทบทวนเรื่องนี้ใหม่” ผูว่าฯกล่าว การรถไฟฯแจงยิบโคราชยกระดับไม่ได้ ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีนี้ผ่านทางสถานีวิทยุสวท.เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ว่า “โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงที่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ถูกออกแบบให้เป็นทางรถไฟระดับดิน เนื่องจากสถานีรถไฟนครราชสีมาเป็นย่านใหญ่ และอยู่ห่างจากชุมทางถนนจิระเพียง 3 กิโลเมตร” ถ้ายกระดับมีปัญหาสร้างรถไฟเร็วสูง “หากจะปรับรูปแบบให้เป็นทางยกระดับในช่วงดังกล่าว จะต้องยกระดับบริเวณสถานีจิระด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าก่อสร้างมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งหากปรับรูปแบบช่วงสถานีรถไฟนครราชสีมาให้เป็นทางยกระดับ จะส่งผลให้ไม่มีพื้นที่เหลือเพียงพอสำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอนาคต”