เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งที่หากจะไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ สำหรับลูกแสด – น้ำเงิน หรือที่เรารู้จักกันในนามโรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์นั่นเอง โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์ (บ.ว.ส.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ประเภทสหศึกษา ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง ปีที่ 6 ประวัติและความเป็นมาของโรงเรียนแห่งนี้ก็เป็นที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย เนื่องด้วยสมัยก่อนเยาวชนในจังหวัดนครราชสีมาที่จบการศึกษาระดับป.6 และ ป.7 มีมากพอสมควร ทำให้ช่วงเวลานั้นการเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเป็นปัญหาอย่างมาก ทางกระทรวงศึกษิการเห็นความเดือดร้อนในเรื่องนี้ จึงได้สั่งการให้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมระดับจังหวัดแห่งที่ 4 ของจังหวัดขึ้น ขึ้นที่ ตำบลโคกสูง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เหตุผลที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่นอกเมืองก็เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนหลั่งไหลเข้าสู่ตัวเมืองมากเกินไป เมื่อตกลงสถานที่เปิดโรงเรียนได้แล้วทางกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ตั้งชื่อโรงเรียนแห่งนี้ตามวีรสตรีของชาวโคราช โรงเรียนนี้จึงได้ชื่อว่า “โรงเรียนบุญเหลือวิทยานุสรณ์” และมีชื่อย่อ ว่า “บ.ล.ส.” ภายหลังพบว่าซ้ำกับ โรงเรียนบ้านเหลื่อมพิทยาสรรค์ จึงเปลี่ยนมาใช้ “บ.ว.ส.” แทน ในปีการศึกษา 2521 ที่โรงเรียนแห่งนี้ได้เปิดทำการเรียนการเป็นครั้งแรก ในขณะนั้น ได้ใช้ศาลาการเปรียญ วัดช่องอู่ เทศบาลตำบลจอหอ และสร้างอาคารชั่วคราวชั้นเดียวมุงสังกะสีขึ้นบริเวณสระน้ำข้างโบสถ์ รวมทั้งดัดแปลงชั้นล่างของกุฎิสงฆ์ เป็นห้องพักครูใหญ่ ใช้สนามรอบเมรุของวัดเป็นที่เรียนยิมนาสติก และโรงลิเกของวัดเป็นห้องเรียนวิชาดนตรี โดยมีครูใหญ่คนแรก ซึ่งรักษาการโดย อาจารย์พัฒนพงษ์ ต่อมาในปีเดียวกันนั่นเอง อาจารย์พัฒนพงษ์ รักษาการครูใหญ่ได้เสียชีวิตลง จึงได้มีอาจารย์ฝ่ายปกครองของโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย มาทำหน้าที่แทน ภายหลังปีการศึกษา 2522 ครูใหญ่คนแรก คือ นายชวลิต ตัณฑเศรณีวัฒน์ ได้เข้าทำหน้าที่อย่างเป็นทางการ และเมื่ออาคารเรียนสร้างเสร็จช่วงเทอม 2 ของปีการศึกษาทางคณะครูและนักเรียนจึงได้ย้ายมาที่ 2 อาคารเรียน คสล. ซึ่งมีความสูง 3 ชั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นับเป็นเวลากว่า 35 ปี ที่โรงเรียนบุญเหลือได้ก่อตั้งและผลิตเยาวชนหลายต่อหลายรุ่น ให้ได้รับการศึกษา ทำให้มีวิชาความรู้และสามารถนำวิชาความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาต่อ ซึ่งแน่นอนว่าโรงเรียนบุญเหลือจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนสืบไปอีกหลายร้อยหลายพันคน ดังปรัชญาที่ว่า สร้างศักยภาพผู้เรียนสู่เกณฑ์มาตรฐานสากล ขอขอบคุณข้อมูลจาก :wikipedia ขอขอบคุณรูปภาพจาก : dek-d และ wikipedia